1. เลือกรองเท้าที่พอดีเท้า อย่าใส่รองเท้าที่บีบเท้ามากเกินไป เพราะจะทำให้เนื้อที่อยู่ด้านข้างของเล็บถูกบีบเข้ามา และเลยไปกดเนื้อด้านข้าง เมื่อเล็บงอกมันก็จะงอกลึกลงไปในเนื้อ ทำให้รู้สึกเจ็บปวดมากๆ ดังนั้น เลือกไซส์รองเท้าให้ถูกขนาดนะคะ
2. อย่าตัดเล็บผิดวิธี วิธีการตัดเล็บที่ดีไม่ควรตัดเล็บด้านข้างให้เป็นมุมแหลม ชิดเนื้อ หรือลึกเกินไป เพราะจะทำให้เล็บที่งอกขึ้นมาใหม่ไปทิ่มแทงที่ซอกเล็บ จนเกิดแผลที่สร้างความบาดเจ็บตามมาได้
3. รักษาเท้าให้สะอาด ไม่ควรเดินเท้าเปล่า หรือถ้าจำเป็นต้องเดินเท้าเปล่า ก็ต้องระวังเรื่องความสะอาดให้ดี เพราะเท้ามีโอกาสในการติดเชื้อราที่เล็บได้สูง หากไม่ดูแลและปล่อยให้เท้าอับชื้นอยู่บ่อยๆ
เมื่อเกิดปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นกับเท้า อย่าคิดว่า...คงไม่เป็นไร ไกลหัวใจเยอะ เพราะเท้าที่มีปัญหาสามารถส่งผลถึงสุขภาพส่วนอื่นของร่างกายได้ด้วย ดังนั้น คุณจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเรื่องเท้ากันสักนิด ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่เล็บเท้าหรือสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เพื่อไม่ให้เล็บฉีกขาดและแทงเข้าไปในซอกเล็บจนเกิดบาดแผลตามมาได้
แล้วควรต้องทำอย่างไรเมื่อเป็น "เล็บขบ" เมื่อคุณป้องกันมันไม่ทันเสียแล้ว และเกิดเป็นโรคเล็บขบขึ้นมา คุณก็ควรมีวิธีแก้ไขที่ถูกต้อง ดังต่อไปนี้
วิธีที่ 1 รักษาทั่วไป
วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก นั่นคือ แค่รู้สึกปวดบวมแดงเล็กน้อยเท่านั้น และยังไม่มีหนอง วิธีแก้ไขทำได้โดย
1. หากเกิดอาการปวดให้บรรเทาอาการด้วยการแช่เท้าในน้ำอุ่นหรือเติมเกลือลงในน้ำอุ่นเล็กน้อย แช่ทิ้งไว้สัก 10 นาที จะช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นได้
2. ตัดเล็บส่วนเกินที่ไม่เจ็บออก ส่วนไหนที่ทำให้เกิดปัญหา ถ้าสามารถตัดได้ก็ตัดทิ้งไป
3. ดูแลซอกเท้าให้มากกว่าเดิม โดยเวลาอาบน้ำคุณสามารถล้างเท้าได้ตามปกติ แต่ควรเพิ่มการถูสบู่ที่บริเวณซอกเท้าและซอกเล็บด้วย โดยทำความสะอาดวันละ 2 ครั้งเพื่อกำจัดเชื้อโรคที่ติดมาให้หมดไป และหลังอาบน้ำเสร็จ ก็ควรใช้แอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% จุ่มสำลีเพื่อเช็ดเล็บให้สะอาดด้วย ปิดท้ายด้วยการใช้ผ้พันแผลสะอาดพันไว้เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกเข้าไปในแผล
4. ขั้นตอนต่อไปนี้สำคัญมากๆ...เริ่มจากการหาวัสดุบางอย่างที่เล็ก ๆ บาง ๆ สะอาดและแข็งพอสมควร เช่น เส้นด้าย ไหมขัดฟันสอด เป็นต้น จากนั้นนำไปสอดเข้าใต้เล็บ และออกแรงงัดเอาเล็บขึ้นมา โดยควรทำอย่างเบามือที่สุดเพื่อป้องกันเล็บหักหรือฉีก
5. เอาสำลีสอดลงไปบริเวณที่เล็บมันขบ สำลีจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดที่มีอยู่ลงได้
6. สุดท้ายให้ปิดด้วยการทานยาปฏิชีวนะประเภทเตตร้าซัยคลิน หรือแอมพิซิลลิน และยาแก้ปวดพาราเซตามอล เพราะยาประเภทนี้จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและการอักเสบจากการติดเชื้อได้
วิธีที่ 2 รักษาด้วยสมุนไพร
- หากใครที่ใช้วิธีที่ 1 แล้วยังไม่หาย แต่ก็ไม่อยากต้องทนทุกข์ทรมานอีกต่อไป ก็ลองใช้สมุนไพรในการรักษาเล็บขบดูสิค่ะ เพราะสมุนไพรไทยเหล่านี้มีความปลอดภัยและได้รับการยอมรับมานานแล้ว ใครเบื่อยาฝรั่ง ลองเอาสูตรเหล่านี้ไปทำดูได้เลย
สูตรที่ 1 ใบพลู หรือใบฝรั่ง
-ตำใบพลูหรือใบฝรั่งประมาณ 3-5 ใบ กับเกลือประมาณ 1 หยิบมือ ตำให้พอละเอียด
-นำมาพอกบริเวณที่เป็นแผล แล้วใช้ผ้าพันปิดแผลไว้
เปลี่ยนผ้าพันแผลทุกวัน เวลาเช้า-เย็น
สูตรที่ 2 ไพล เกลือตัวผู้ กับข้าวสุก
-ตำไพล 1 แง่ง กับเกลือตัวผู้ 7 เม็ด และข้าวสุก 1 กำมือ ตำให้ละเอียด
-นำมาพอกไว้บริเวณที่เป็นแผล จะช่วยให้หนองแตกออกและหายปวดได้
สูตรที่ 3 มะนาวกับปูนแดง
-ฝานมะนาวตรงส่วนหัวออกให้พอสอดนิ้วเท้าที่เป็นเล็บขบเข้าไปได้ แล้วใช้มีดคว้านเอาเนื้อในออกเล็กน้อย
-ทาปูนแดงบาง ๆ บริเวณที่เป็นเล็บขบ
-สอดนิ้วที่เป็นเล็บขบเข้าไปด้านในของมะนาวที่คว้านเนื้อเจาะรูเอาไว้ ทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที ทำวันละ 2-3 ครั้ง เวลาเช้า-เย็น
วิธีที่ 3 รักษาด้วยมือแพทย์
กรณีที่เป็นหนัก คงต้องพึ่งมือแพทย์เท่านั้น โดยแพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมาทา หรือรับประทาน สำหรับคนที่ยังไม่มีอาการหนักมาก อย่างไรก็ตาม ถ้ายังไม่หายและอาการทรุดหนักลงจน นิ้วบวมแดง หนองไหล หรือมีก้อนเนื้อบริเวณข้างเล็บหนาตัวขึ้น แพทย์ก็จะใช้วิธีถอดเล็บในที่สุด
เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากลงเอยด้วยการถอดเล็บ เพราะมันคือความเจ็บปวดที่แสนทรมานขั้นสุด ดังนั้น ดูแลเล็บเท้าของคุณให้ดีตั้งแต่แรก จะได้ไม่ต้องกังวลความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตยังไงละคะ