แบบไหนที่เรียกว่า โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง


แบบไหนที่เรียกว่า โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง

โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง เป็นอาการป่วยทางจิตเวชที่บางคนเป็นแต่ไม่รู้ตัว ความน่าเป็นห่วงของโรคนี้คือหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เป็นโรคอื่นร่วมได้โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด จึงถือเป็นโรคที่มีความอันตรายและควรได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ที่สำคัญที่สุดทุกคนควรรู้จักกับโรคนี้เพื่อสังเกตตนเองและคนรอบข้าง ก่อนที่อาการป่วยจะมีความรุนแรงนำไปสู่อันตรายในอนาคต

โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเองเป็นอย่างไร?

โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง หรือที่เรียกว่า Body Dysmorphic Disorder คือความรู้สึกที่ไม่พึงพอใจในรูปร่างและหน้าตาของตนเองเกินปกติ จัดอยู่ในกลุ่มโรคยํ้าคิดยํ้าทำ คือมีอาการคิดซํ้า ๆ ไม่พอใจ เปรียบเทียบกับผู้อื่น และ มีพฤติกรรมทำซํ้า เช่น ส่องกระจกบ่อย ๆ ถามผู้อื่นซํ้า ๆ ด้วยความกังวล เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน (โดยเฉลี่ย 3-8 ชั่วโมงต่อวัน) จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือส่งผลต่อการเรียนและการงาน รวมถึงอาจพบว่ามีการกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองรวมถึงการผ่าตัดศัลยกรรมบ่อยครั้ง

แต่ถึงอย่างนั้นภาวะของการไม่ชอบรูปร่างหน้าตาของตนเองก็ไม่ได้จัดเป็นโรคหรืออาการป่วยเสมอไป ทั้งนี้ต้องพิจารณาตามความถี่ของอาการแสดง อย่างพฤติกรรมการสังเกตรูปร่างหน้าตาตนเอง หากเป็นบ่อยครั้ง โดยเฉลี่ย 3-8 ชั่วโมงต่อวัน จึงเข้าข่ายเป็นโรค อาจส่องกระจกทั้งวันจนไม่เป็นอันทำงานหรือเรียนหนังสือ มีความคิดค้างคาใจที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่ตลอดเวลา มีการผ่าตัดศัลยกรรมซํ้าซาก ไม่รู้สึกพึงพอใจในตนเองจนเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต แบบนี้ถือเป็นอาการป่วยที่ควรได้รับการรักษา แต่ถ้าหากเป็นการสังเกตตนเองปกติ ส่องกระจกปกติ ทำศัลยกรรมบ้างเล็กน้อยก็รู้สึกพึงพอใจแล้ว แบบนั้นถือเป็นเรื่องปกติ ไม่จัดเป็นโรคและไม่จำเป็นต้องรักษา

ปัจจัยของการเกิดโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง (Body Dysmorphic Disor der)

ปัจจัยเกี่ยวข้องของโรคมักมาจากพื้นฐานภายในจิตใจของผู้ป่วย มีความไม่มั่นใจในตนเอง รู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง อาจเกิดจากค่านิยมในครอบครัว ที่ให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตา หรืออาจเป็นผลมาจากค่านิยมในสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย รวมถึงความคาดหวังจากผู้อื่นหรือจากสังคมในตัวผู้ป่วยเอง ในส่วนของสื่อหรือคนดังที่นิยมทำศัลยกรรม อาจส่งผลบ้างแต่ไม่มากนัก เป็นเพียงปัจจัยเสริมเท่านั้น ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงโดยตรง

สรุปปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1. พื้นฐานจิตใจของผู้ป่วย

2. ค่านิยมของครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย

3. อายุ พบว่าผู้ป่วยส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 15-30 ปี (วัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น)

4. เพศ พบว่าผู้หญิงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย อาจเป็นผลมาจากผู้หญิงมีความละเอียดมากกว่าผู้ชาย จึงใส่ใจตนเองมากกว่า และพบข้อบกพร่องในตนเองมากกว่า

ผลกระทบของโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตา ตัวเอง (Body Dysmorphic Disorder)

1. จิตใจหมกมุ่น ไม่มีสมาธิ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต

2. ผลการเรียนแย่ลง หรือประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำให้คุณภาพชีวิตตํ่าลง

3. มีความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาตัวเองจนเป็นอุปสรรคในการเข้าสังคม

4. มีความทุกข์ ส่งผลกระทบต่อจิตใจ อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคร่วมที่พบบ่อยที่สุด

5. หากไม่ได้รับการรักษาจนอาการซึมเศร้ารุนแรง อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

วิธีสังเกตตนเองและคนรอบข้าง

1. มีความคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาตัวเองทั้งวันจนไม่เป็นอันทำอะไร ไม่มีสมาธิ

2. นอนไม่หลับ เครียด เพราะเรื่องรูปร่างหน้าตาตัวเอง

3. น้อยใจในรูปร่างหน้าตาของตัวเอง จนกลายเป็นความทุกข์

4. คนรอบข้างมีพฤติกรรมชอบบ่นเรื่องรูปร่างหน้าตาของตัวเองให้ฟังบ่อยครั้งจนรู้สึกว่ามากเกินไป

5. เสพติดศัลยกรรม (ทั้งตนเองและคนรอบข้าง)

ความแตกต่างระหว่างโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง และโรคคลั่งผอม

.ความเหมือนกัน คือ เฝ้าสังเกตตัวเองบ่อยครั้ง และไม่พึงพอใจในตนเองเสียที แม้จะสามารถแก้ไขตนเองให้อยู่ในจุดที่พอดีแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกไม่พอ เช่น ลดความอ้วนจนผอมแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าตนเองอ้วนและอยากผอมอีก หรือศัลยกรรมใบหน้าจนแก้ไขจุดบกพร่องได้แล้ว แต่ก็ยังไม่พอใจและอยากศัลยกรรมเพิ่มไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น

.ความแตกต่าง คือ การคลั่งผอมเป็นการมองภาพรวมของรูปร่างและนํ้าหนักของตน แต่โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง มักเน้นร่างกายเฉพาะส่วน เป็นการเจาะจงรายละเอียดมากกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกัน โรคคลั่งผอมมีผลกระทบคือขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแอ จากการลดนํ้าหนักมากหรือรับประทานอาหารไม่เหมาะสม รวมถึงออกกำลังกายหักโหมเกินไป แต่โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง ส่งผลต่อจิตใจและการใช้ชีวิต

วิธีการรักษา

1. แพทย์จะมีการดูแลเบื้องต้นตามอาการของผู้ป่วย

2. จิตแพทย์ ให้คำปรึกษาเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเองและดูแลตนเองอย่างเหมาะสม

3. คนรอบข้าง อาจให้คำแนะนำเบื้องต้นเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกพึงพอใจในตนเอง.

---------------------------------
ผศ.พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร
CR::: dailynews.co.th


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์