โรคเครียด “PTSD” ที่อาจตามมาหลังประสบเหตุสะเทือนใจ!

ชื่อ “PTSD” หรือ “โรคเครียดหลังประสบภัยรุนแรงในชีวิต” อาจฟังไม่คุ้นหู แต่เชื่อหรือไม่ว่า โรคทางใจนี้มีอยู่จริง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย และวันนี้ Tonkit360 จะพาไปทำความรู้จักว่า โรคนี้คืออะไร ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้บ้าง และวิธีการรักษาเป็นแบบใด

โรคเครียด “PTSD” ที่อาจตามมาหลังประสบเหตุสะเทือนใจ!

โรค PTSD คือ อะไร ?

PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) หรือ “ความผิดปกติที่จากความเครียดหลังประสบภัยรุนแรงในชีวิต” นั้น เป็นสภาวะป่วยทางจิตใจหลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดความเครียดจนกระทบต่อการดำเนินชีวิต อาทิ อยู่ในเหตุการณ์ภัยพิบัติ (สึนามิ, น้ำท่วม, หรือติดในถ้ำ) ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทารุณกรรมทางเพศ พบเหตุการณ์สะเทือนใจแบบไม่คาดฝัน หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากเหตุการณ์นั้น ๆ

นอกจากนี้ ยังรวมถึงกรณีที่ไม่ได้เป็นผู้ประสบเหตุโดยตรง แต่รับรู้ข้อมูลผ่านข่าวหรือคำบอกเล่าจากผู้อื่น จนเกิดความเครียดหรือตื่นกลัว ประหนึ่งว่าเป็นผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เองด้วย


อาการของผู้ป่วย PTSD มีลักษณะใดบ้าง

อาการโดยทั่วไปของ PTSD ที่พบ คือ มีอาการหวาดกลัว สิ้นหวัง หวาดผวา ซึมเศร้า รู้สึกท้อแท้เหมือนไม่มีใครหรืออะไรช่วยตนเองได้ และที่สำคัญ คือ มักจะเห็นภาพเหตุการณ์รุนแรงหรือสะเทือนใจอยู่บ่อย ๆ แม้จะพยายามไม่นึกถึง หรือพยายามลืมก็ตาม

ขณะที่บางคนอาจมีพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปจากเดิม อาทิ พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสถานที่ที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างกรณีเคยประสบเหตุเรือล่ม อาจไม่กล้าขึ้นเรือโดยสาร หรือไม่กล้าอยู่ใกล้น้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผู้ประสบเหตุการณ์ร้ายแรงหรือสะเทือนใจ ไม่ได้เป็นโรค PTSD ทุกคน เนื่องจากบางคนสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจกลับมาได้เร็ว ขณะที่บางคนมีอาการผิดปกติทางจิตใจระยะสั้นเท่านั้น แต่ถ้าใครมีอาการตามที่กล่าวมาในข้างต้นเกิน 1 เดือน แสดงว่า คุณมีแนวโน้มที่จะเป็นโรค PTSD


บุคคลประเภทใด ที่อาจเป็นโรค PTSD

สำหรับกลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นโรค PTSD นั้น อาทิ

– ผู้ที่ประสบเหตุร้าย หรือเคยได้รับประสบการณ์เลวร้ายมาจากอดีต
– ผู้ที่มีเรื่องเครียด กังวลใจ หรือประสบเหตุร้าย ๆ อยู่บ่อยครั้ง
– ผู้ที่ไม่ค่อยมีเพื่อนหรือครอบครัวมาคอยช่วยเหลือ
– ผู้ที่มีเรื่องให้เครียดกังวลใจอยู่ก่อน แล้วมาเจอเหตุร้ายซ้ำ ฯลฯ


โรค PTSD มีวิธีรักษา แบบใดบ้าง

โดยทั่วไปโรค PTSD สามารถรักษาได้ 2 วิธี คือ การรักษาด้วยยา และการรักษาทางจิตวิทยา แต่ในบางกรณีแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาทั้ง 2 แบบควบคู่กันก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย รวมถึงการวินิจฉัยของแพทย์

สำหรับระยะเวลาที่ใช้รักษานั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่ผู้ป่วยเผชิญอยู่ ตลอดจนสภาพแวดล้อม รวมถึงผู้คนรอบข้างว่า มีความเข้าใจในตัวผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด โดยบางคนอาจใช้เวลารักษาเพียง 6 เดือน ในขณะที่บางคนต้องเข้ารับการรักษาไปตลอดชีวิต


วิธีการรักษาโรค PTSD ทั้ง 2 แบบ มีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้

การรักษาด้วยยา

เป็นการให้ยาในกลุ่มยาแก้โรคซึมเศร้า อาทิ ยาฟลูอ็อกเซทีน หรือยาพาโรเซทีน โดยยากลุ่มนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงจะเริ่มออกฤทธิ์ หลังจากนั้น แพทย์จะเป็นผู้ประเมินอีกครั้งว่า ยาที่ให้ผู้ป่วยไปนั้น ได้ผลหรือไม่ หรือมีผลกระทบอะไรบ้าง หากปรากฏว่า อาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น อาจมีการปรับตัวยาใหม่

อย่างไรก็ตาม ยาคลายกังวลในกลุ่มไดอะซีแพม (ยาแวเลียม) หรืออัลปราโซแลม เป็นกลุ่มยาที่แพทย์จะพยายามหลีกเลี่ยง นอกจากว่า จะมีความจำเป็นต้องใช้จริง ๆ และใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ใช้ผู้ป่วยเสพติดการใช้ยาคลายกังวล

การรักษาทางจิตวิทยา

คือ การรักษาด้วยวิธี “พฤติกรรมบำบัด” เป็นการให้ผู้ป่วยได้เผชิญหน้ากับเหตุร้ายอย่างค่อยเป็น ค่อยไป อาทิ ให้ดูวิดีโอเกี่ยวกับเรื่องนั้นซ้ำ ๆ กระทั่ง ผู้ป่วยสามารถทำความเข้าใจกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น และไม่หวาดกลัวหรือมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสถานที่ที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์นั้นอีก

แต่ในผู้ป่วยบางราย อาจต้องปรับมาใช้วิธี “จิตบำบัด” คือ การรักษาด้วยการพูดคุยกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา หาสาเหตุของปัญหา แก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหา ความทุกข์ ความคับข้องใจของผู้ป่วย


หากผู้ป่วยโรค PTSD เป็นเด็กเล็ก 

สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก คือ การทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย และกล้าเผชิญกับความกลัวนั้น โดยผู้ปกครองต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดด้วย เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ ซึ่งจะช่วยให้การบำบัดเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแพทย์ และครอบครัวเป็นส่วนสำคัญมากที่จะทำให้เด็กหายจากโรคนี้ได้


ถ้าเราเป็นโรค PTSD ควรทำอย่างไร

ทำความเข้าใจกับตัวเอง

อันดับแรก คุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คุณไม่ได้เป็นโรคจิต สิ่งที่คุณเป็นอยู่นั้น เป็นเพราะคุณพบเจอกับเหตุการณ์ร้ายแรงมา จนส่งผลให้มีอาการเครียด ฉะนั้น หากคุณเข้าใจและยอมรับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ ก็จะสามารถรับมือต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้

อย่าแยกตัวอยู่คนเดียว

หลังประสบเหตุร้าย คุณไม่ควรอยู่คนเดียว เพราะอาจทำให้คิดวน คิดมา จนเกิดอาการเครียดหนักกว่าเดิมได้ ขอให้คุณลองทำกิจกรรมกับเพื่อน หรือครอบครัว อาทิ ดูหนัง ออกกำลังกาย เพื่อให้หลุดออกจากสภาวะเครียด

กล้าที่จะรับการบำบัด

เมื่อรู้ว่า มีอาการเครียด หวาดผวา หรือรู้สึกสิ้นหวัง ขอให้คุณรีบไปพบแพทย์และขอรับการรักษาทันที เพื่อให้อาการที่มีอยู่นั้นหายไป


อ้างอิงจาก กรมสุขภาพจิต, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, medicinenet.com
ขอบคุณที่มา tonkit360


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์