สั่นแบบไหนที่บ่งบอกว่า คุณกำลังสั่นพาร์กินสัน
ความจริงแล้วอาการสั่นในผู้สูงวัยนั้นมีสาเหตุได้หลายอย่าง และสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดก็ไม่ใช่โรคพาร์กินสัน นอกจากนั้นโรคพาร์กินสัน ถ้ารักษาเร็วและต่อเนื่องก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องนั่งรถเข็นหรือนอนติดเตียงเสมอไป
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายถึงอาการสั่นแบบไหนที่เรียกว่า "สั่นพาร์กินสัน" ว่า ถึงแม้ว่าการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันต้องทำโดยแพทย์ ถ้าเป็นไปได้ควรเป็นผู้เชี่ยวชาญทางประสาทวิทยา (หรือที่เรียกว่า ประสาทแพทย์) อาการสั่นในพาร์กินสันนั้นมีลักษณะเฉพาะ และสามารถสังเกตได้ไม่ยากโดยคนทั่วไป ถ้าเข้าใจถึงอาการหลักของโรคพาร์กินสัน วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจถึงลักษณะเฉพาะของอาการสั่นพาร์กินสันที่สามารถสังเกตได้ง่ายโดยคนทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่ใช่แพทย์และใช้เวลาไม่นาน ไม่ได้ใช้เครื่องมือพิเศษแต่อย่างใด ลักษณะอาการสั่นเฉพาะ 3 อาการง่ายๆ นี้ ผมได้มาจากการเรียน และดูแลสังเกตอาการผู้ป่วยพาร์กินสันตลอด 10 ปีที่ทำงานอยู่ที่ศูนย์พาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
อาการที่ 1
อาการสั่นในโรคพาร์กินสันมักเริ่มที่มือข้างใดข้างหนึ่งก่อนเสมอ ลักษณะพิเศษของโรคพาร์กินสันนั้น ก็คือ เป็น โรคที่เริ่มข้างใดข้างหนึ่งก่อนเสมอ โดยส่วนใหญ่จะเริ่ม ที่นิ้วมือ ร่วมกับอาการเคลื่อนไหวที่ช้า หรือเกร็งของมือที่มีอาการสั่นในข้างนั้น อาการนี้เราเรียกกันเป็นศัพท์แพทย์ว่า Tremor at rest
อาการที่ 2
อาการสั่นพาร์กินสันมักสังเกตได้ชัตอนที่ผู้ป่วยอยู่เฉยๆ ไม่ได้ใช้มือข้างนั้นๆ ทำงาน ทำให้ตอนช่วงแรกๆ ผู้ป่วยเองอาจไม่รู้ว่าตนเองสั่น แต่อาการสั่นนั้นมักถูกสังเกตจาก ครอบครัวว่าทำไมถึงมือถึงสั่น เมื่อใช้มือข้างนั้นๆ ทำงาน เช่น หยิบของ อาการสั่นนั้นมักลดลง ทำให้ผู้ป่วยในช่วงแรก อาจไม่คิดว่าอาการสั่นนั้นเป็นสัญญาณของโรคพาร์กินสัน ข้อที่น่าสังเกตที่เฉพาะอีกอย่าง ก็คือ เมื่อผู้ป่วยนั้นยกมือ ที่สั่นขึ้นมาค้างไว้สักช่วงหนึ่ง อาการสั่นหายไปช่วงสั้นๆ และอาจกลับมาใหม่ให้เห็นชัดมากขึ้น อาการนี้เราเรียกในทางการแพทย์ว่า Re-emerging tremor อาการสั่นที่เกิดขึ้นขณะอยู่เฉย และกลับมาใหม่ขณะยกมือค้างนั้น ถือเป็นลักษณะเฉพาะของโรคพาร์กินสันเลยทีเดียว โรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการ ในลักษณะเดียวกันนั้นมีน้อย ในทางการแพทย์เราเรียกว่าอาการนี้ว่ามีความจำเพาะ หรือ specific ต่อโรคพาร์กินสันนั้นมากๆ
อาการที่ 3
อาการสั่นพาร์กินสันสามารถเกิดขึ้นที่ส่วนอื่นของร่างกายร่วมกับมือได้ด้วย ถ้าเกิดขึ้นที่มือข้างใดข้างหนึ่งขณะเดิน อาการสั่นที่ริมฝีปากล่าง ให้สงสัยว่าอาการสั่นนั้นอาจเป็นอาการเริ่มแรกของโรคพาร์กินสัน
ทีนี้เรามาทำความเข้าใจอีกนิดว่า อาการสั่นแบบไหนล่ะ ที่ไม่น่าจะใช่โรคพาร์กินสัน ความจริงแล้วมีโรคสั่นอีกหลายสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ในผู้สูงวัย อาการสั่นที่เกิดขึ้นที่มือทั้งสองข้างพร้อมๆ กัน เวลาตักอาหารหรือใช้มือทำงานนั้น โดยส่วนใหญ่ไม่ใช่โรคพาร์กินสัน อาการสั่นที่คอ และใบหน้าแบบที่ส่ายไปมาว่า "ไม่ใช่" ตลอดเวลาโดยที่มือไม่สั่นโดยส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่โรคพาร์กินสันเช่นกัน
สรุปก็คือ สั่นในพาร์กินสัน สังเกตได้ง่าย ถ้าเรามีหลัก สั่นข้างเดียว ขณะอยู่เฉย กลับมาใหม่ตอนยกมือค้าง ร่วมกับสั่นเวลาเดิน ให้สงสัยโรคพาร์กินสันไว้ก่อนเลย อย่างไรก็ตามผู้ป่วยพาร์กินสันไม่จำเป็นต้องสั่นทุกราย โรคพาร์กินสันแบบแข็งและไม่สั่นก็มี การวินิจฉัยต้องทำโดยแพทย์ อย่าใช้หลักนี้เพียงอย่างเดียว วินิจฉัยเอง และซื้อยากินเอง หมอให้หลักนี้ไว้เพื่อให้สงสัยผู้สูงวัยที่มีอาการเหล่านี้ และส่งต่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป ในตอนหน้าจะมาคุยกันต่อนะครับว่า อาการพาร์กินสันนั้นถ้าจะวินิจฉัยเร็ว ต้องทำอย่างไร ขอให้ทุกท่านสุขภาพแข็งแรงCr::::สสส.