8 วิธีลดไขมัน(ไตรกลีเซอไรด์)ในเลือด

พวกเราคงจะมีประสบการณ์ไปเจาะเลือดตรวจไขมันในเลือดหรือโคเลสเตอรอลมาแล้วไม่มากก็น้อย ไขมันในเลือดมีตัวละครสำคัญ 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

1.โคเลสเตอรอล "ฝ่ายดี (HDL)" > เป็นตัวทำความสะอาดผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดสะอาด เรียบลื่นราวกับผิวกระทะเคลือบเทฟลอน

2. โคเลสเตอรอล "ฝ่ายร้าย (LDL)" > เป็นตัวนำคราบไขมันไปทิ้งไว้ตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดมีผิวหยาบ บวม ขรุขระ คล้ายๆ ถนนบางแห่ง ทำให้หลอดเลือดอุดตันได้ง่าย

เมื่อมีฝ่ายดี (HDL) กับฝ่ายร้าย (LDL) แล้วก็มักจะมี "ผู้ช่วยฝ่ายร้าย" คอยเหยียบย่ำทำร้าย "ฝ่ายดี" คล้ายๆ กับชีวิตจริง เรื่องของไขมันในเลือดก็มีผู้ช่วยฝ่ายร้ายเหมือนกันคือ "ไตรกลีเซอไรด์"

3.ไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides / TG) เป็น "ผู้ช่วยผู้ร้าย (TG)" หรือเป็นตัวทำให้ LDL มีขนาดเล็กลง แทรกซึม ซอกซอน ผ่านผนังหลอดเลือดไปสะสมเป็นคราบไขได้เร็วขึ้น

ทีนี้ถ้าตรวจเลือดแล้วพบว่า ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงจะทำอย่างไรดี...

อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญแห่งสถาบันเมโย คลินิก สหรัฐฯ แนะนำวิธีปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ (lifestyle) ไว้ 8 ข้อดังต่อไปนี้

1.ลดน้ำหนัก (ถ้าน้ำหนักเกินหรืออ้วน)

2.ลดกำลังงานหรือแคลอรีในอาหาร

อาหารที่ให้กำลังงานมี 3 กลุ่มได้แก่ คาร์โบไฮเดรต (แป้ง-น้ำตาล) ไขมัน และโปรตีน
การกินอาหารที่ให้กำลังงานมากเกินจะทำให้ร่างกายสร้างไขมันไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น

3.ลดแป้งขาวและน้ำตาล

แป้งขาวหรือธัญพืชขัดสี เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว ข้าวนึ่ง (ข้าวเหนียว) ฯลฯ อาหารทำจากแป้ง และน้ำตาลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นเร็ว ระดับน้ำตาลที่สูงเกินมีอันตราย ร่างกายจึงต้องรีบลดระดับน้ำตาล โดยการเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมัน ทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้น

การลดแป้งขาวและน้ำตาลให้ได้ผลดี... จำเป็นต้องลดลงทั้งปริมาณ เช่น ลดปริมาณข้าวลงประมาณ 1 ใน 3 ของที่กินอยู่เดิม ฯลฯ ทีนี้ถ้าลดข้าวลงทันทีอาจทำให้หิวง่าย เพลียง่าย วิธีที่ดีคือ ให้เติมผักและถั่วหลายๆ ชนิดเข้าไปแทนส่วนของข้าวที่ลดลง หัดกินมื้อเล็กๆ วันละประมาณ 4 มื้อ (ที่ดีคือ เช้า-สาย-เที่ยง-เย็น)

4. ลดโคเลสเตอรอลในอาหาร

การลดอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง (โคเลสเตอรอลมีเฉพาะอาหารจากสัตว์ ไม่มีในอาหารจากพืช) โดยเฉพาะเครื่องในสัตว์ อาหารทะเล (ยกเว้นปลาและปลิงทะเลมีโคเลสเตอรอลต่ำ)

ควรลดปริมาณเนื้อแดงหรือเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น วัว หมู แพะ แกะ ฯลฯ ลงสักครึ่งหนึ่ง เนื่องจากเนื้อแดงมีไขมันแฝงอยู่มากแม้จะเห็นเป็นเนื้อ "สีแดง"

ใช้โปรตีนจากพืช เช่น โปรตีนเกษตรหรือโปรตีนถั่วเหลือง (เป็นโปรตีนคุณภาพสูง และมีไขมันประมาณ 0% ทำให้เหมาะที่จะใช้เสริมโปรแกรมลดความอ้วนมาก) เต้าหู้ ถั่วหลายชนิดผสมกัน งา ฯลฯ แทนโปรตีนจากสัตว์ประมาณครึ่งหนึ่ง

ถ้ากินผลิตภัณฑ์นม... ควรเลือกชนิดไขมันต่ำ (low fat) หรือชนิดไม่มีไขมัน (non-fat) ซึ่งจะลดทั้งไขมันอิ่มตัว และโคเลสเตอรอลได้พร้อมๆ กัน

การลดผลิตภัณฑ์นมลง... กินนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียมแทนสักครึ่งหนึ่งก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน

5. ใช้น้ำมันชนิดดี

น้ำมันชนิดดีมากๆ ได้แก่ น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดชา หรือน้ำมันคาโนลาสำหรับผัดทอดทั่วไป น้ำมันมะกอกสำหรับทำสลัด และกินปลาทะเลที่ไม่ผ่านการทอดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
ถ้าไม่กินปลาทะเล... การใช้น้ำมันรำข้าวผสมน้ำมันถั่วเหลืองน่าจะดี

6. ลดไขมันทรานส์

ไขมันทรานส์ส่วนใหญ่เกิดจากการนำไขมันพืชไปเติมไฮโดรเจนในโรงงาน ทำให้ได้เนยขาว ครีมเทียม (คอฟฟี่เมต)

อาหารที่มีไขมันทรานส์สูงได้แก่ ขนมกรุบกรอบสำเร็จรูป อาหารฟาสต์ฟูด เบเกอรี

ไขมันทรานส์มีอันตรายประมาณ 10 เท่าของไขมันอิ่มตัว เนื่องจากไขมันอิ่มตัวเพิ่มโคเลสเตอรอลฝ่ายร้าย (LDL) อย่างเดียว ทว่า... ไขมันทรานส์เพิ่มโคเลสเตอรอลฝ่ายร้าย (LDL) ด้วย ลดโคเลสเตอรอลฝ่ายดี (HDL) ด้วย

7."ลด-ละ-เลิก" แอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ ให้กำลังงาน 7 แคลอรี (ทางอาหารหมายถึงกิโลแคลอรี) ต่อกรัม มากกว่าคาร์โบไฮเดรต (แป้ง-น้ำตาล) หรือโปรตีน (เนื้อ ถั่ว เต้าหู้ งา) ที่ให้กำลังงาน 4 แคลอรีต่อกรัม ใกล้เคียงกับไขมันที่ให้กำลังงาน 9 แคลอรีต่อกรัม

กลไกที่แอลกอฮอล์ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูงเป็นผลจากแอลกอฮอล์ด้วย และน้ำตาลในเครื่องดื่มด้วย การที่แอลกอฮอล์เพิ่มระดับไตรกลีเซอไรด์ได้สูงมากเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงโรคตับอ่อนอักเสบ

8. ออกแรง-ออกกำลัง

การออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำเทียบเท่าการเดินเร็ววันละ 30 นาทีขึ้นไปมีส่วนช่วยเพิ่มโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดโคเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) และลดไตรกลีเซอไรด์ (TG) ไปพร้อมๆ กัน
การออกแรง-ออกกำลังเพื่อปรับสภาพโคเลสเตอรอลให้ "ใหม่-สด-เสมอ" ไม่จำเป็นต้องออกแรง-ออกกำลังรวดเดียว 30 นาที จะแบ่งเป็นช่วงๆ แล้วนำเวลามารวมกันก็ได้ เช่น เดินเร็วคราวละ 10 นาที 3 ยก รวมเป็น 30 นาทีก็ได้ ฯลฯ

ทว่า... ถ้าต้องการให้โคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เพิ่มสูงขึ้นมากหน่อย การออกแรง-ออกกำลังให้หนักหน่อยจะทำให้ HDL เพิ่มขึ้นได้ดีกว่าการออกแรง-ออกกำลังเบาๆ

วิธีออกกำลังที่ดีมากคือ เดินให้เร็วมากๆ ครึ่งนาทีสลับเดินเร็วปานกลาง 1-2 นาที ถ้าไม่ชอบเดินจะเปลี่ยนเป็นวิ่งเหยาะ (จอกกิ้ง) ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ กระโดดเชือก เดินขึ้นลงบันไดตามโอกาส หรือทำงานบ้าน เช่น ล้างรถ ถูพื้น ฯลฯ ก็ได้

 


8 วิธีลดไขมัน(ไตรกลีเซอไรด์)ในเลือด

ที่มาgotoknowi
บทความจาก นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์