ง่วงมากเกินไป หรือ ง่วงมากผิดปกติ (excessive sleepiness) ผิดปกติแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ต้องรีบพบแพทย์ คนที่มีภาวะนี้จะตื่นยากมากจากการนอน เมื่อตื่นแล้วก็รู้สึกว่าต้องการนอนต่อไปอีก ระหว่างวันก็ต้องการงีบหลับหลายๆ ครั้ง และการงีบก็อาจเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ในรายที่มีอาการมากขณะคุยกันก็ยังหลับได้ระหว่างกินอาหาร งีบก็แล้ว ตื่นมาก็ยังง่วงต่อไปอีก ตื่นมาก็ไม่สดชื่น (non restorative sleep) สามารถหลับในเวลากลางวันได้วันละหลายครั้ง ง่วงมากเกินไปตอนกลางวัน (excessive daytime sleepiness) คนเหล่านี้จะสามารถหลับได้ในขณะที่กำลังคุยสนทนาอยู่ หรือแม้กำลังรับประทานอาหาร บางคนที่ง่วงมากขณะนอนหลับ ถ้าถูกปลุกขึ้นมาก็อาจมีอาการพูดจาสับสน นอกเหนือจากอาการง่วงแล้ว ยังหงุดหงิดง่าย วิตกกังวล ความคิดอ่านไม่แล่น ความจำไม่ดี และมีอาการซึมเศร้า ถ้าท่านมีคนรอบข้างหรือญาติพี่น้อง ลูกหลาน ง่วงมากเกินไป หรือง่วงมากผิดปกติ ขอให้ตระหนักว่าผิดปกติแน่นอน ไม่ใช่เกิดจากพฤติกรรมหรือนิสัยเกียจคร้าน หรือบุคลิกภาพส่วนตัว แต่เกิดจากโรคทางกายหรือใจ แน่นอน ต้องพบแพทย์
อะไรคือสาเหตุของการที่ง่วงมากผิดปกติ
ง่วงมากผิดปกติเกิดจากสาเหตุหลักๆ 3 ปัจจัย ที่ทำให้คุณภาพในการนอนไม่ดี หรือได้รับการนอนไม่เพียงพอ
สาเหตุง่วงมากผิดปกติจากปัจจัยแรก เช่น ในภาวะอดนอนในปัจจุบันเกิดง่ายมาก นอนดึกจากการดูโทรทัศน์ ดูละครทีวีกับพ่อแม่ ติดเกม แล้วก็ตื่นเช้าไปโรงเรียนแต่เช้า เนื่องจากบ้านอยู่ไกลหรือรถติด เด็กจะง่วงแน่นอน หลับแล้วต้องตื่นบ่อยจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นอนกรน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การหลับทำได้ไม่สนิทตอนกลางคืน การนอนไม่สามารถเข้าระยะหลับลึกได้ ผู้ใหญ่ที่มีภาวะนอนกรนและหยุดหายใจ แม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ใหม่ 3 เดือนแรกจะนอนหลับไม่พอ จะง่วงมากผิดปกติจากการอดนอน แต่ต่อมาจะเริ่มปรับตัวได้ใน 3 เดือนต่อมา แล้วการนอนก็จะแย่ลงไปอีกในระยะก่อนคลอดหรือช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ เนื่องจากขนาดของท้องที่ใหญ่มากและการบวมน้ำทำให้นอนมีปัญหา ถ้าแม่มีอาการนอนกรน หยุดหายใจในขณะหลับ อาการก็จะแย่ลงมากขึ้น ภายหลังคลอดแม่ส่วนใหญ่ภาวะนอนกรนจะดีขึ้น เนื่องจากยุบบวม แต่การอดนอนของคุณแม่หลังคลอดก็จะแย่ลงเหมือนเดิม เนื่องจากต้องอยู่ในภาวะให้นมลูกหลังคลอด และการนอนหลับร่วมเตียงเดียวกับลูก
สาเหตุง่วงมากผิดปกติจากปัจจัยสอง เช่น ภาวะ jet lag เวลาเดินทางไปต่างประเทศ ที่นิวยอร์กเที่ยงวัน แต่บ้านเราเที่ยงคืน เราก็ง่วงแน่นอน คนที่ทำงานเป็นกะ (shift work) หรือคนทำงานกลางคืน(night shift) ดังกล่าวข้างต้นเช่นกัน นาฬิกาชีวิตยู่ในโหมดหลับ แต่จำเป็นต้องตื่นเพราะภาระงาน แรงหลับมีมากแต่ก็ต้องตื่น เข้านอนและตื่นนอนไม่เป็นเวลา คนเหล่านี้ถ้าไม่ดูแลตัวเองให้ดี นอกเหนือจากนอนไม่พอง่วงมากแล้ว ต่อมาก็จะนอนไม่หลับ ต้องใช้ยานอนหลับ ปัญหาก็ยุ่งมากขึ้นไปอีก เพราะต้องกินยานอนหลับ อีกภาวะหนึ่งที่อยากกล่าวคือ โรคนาฬิกาชีวภาพเดินช้า (delay sleep phase syndrome) เกิดในเด็กวัยรุ่น จะนอนดึกมาก เช่น ตี 2 แต่ตื่น 10 โมงเช้า คือนาฬิกาชีวิตเดินช้าไป 4 ชั่วโมง คนปกติอาจนอน 4 ทุ่ม แล้วตื่น 6 โมงเช้า สภาวะนี้คล้ายกับสภาวะ jet lag ที่เราเดินทางไปทิศตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น นาฬิกาชีวิตของเราจะช้ากว่าเวลาจริงท้องถิ่น ถ้าตื่นตอน 6 โมงเช้าที่ญี่ปุ่น แต่นาฬิกาชีวิตของเราบอกว่าแค่ตี 4 เราจึงมีอาการง่วงนอน
สาเหตุสุดท้าย เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทที่ทำให้กลไกควบคุมผิดปกติ เช่น คนไข้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกสมอง จะนอนมากกว่าปกติ นอกจากนี้ในทางการแพทย์มีโรคที่มีอาการง่วงมากผิดปกติอยู่ เช่น โรคลมหลับ (nacrolepsy) และ kleine-levin syndrome
โรคลมหลับ (narcolepsy) เป็นโรคที่แปลกมากๆ พบได้บ่อยมากตามทฤษฎี แต่บ้านเราไม่ค่อยรู้จัก โดยแพทย์แต่ละท่าน เชื่อว่าผู้ป่วยจะมีจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง โรคพบได้ตั้งแต่เด็ก สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่น่าจะเป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง จะเริ่มเป็นภายหลังตั้งแต่เด็กวัยเรียนชั้นประถม หรือวัยรุ่น เด็กจะง่วงมากผิดปกติในตอนกลางวัน และหลับบ่อยมาก พอหลับก็ฝันทันที (early onset rem) เด็กง่วงมาก ทำให้เด็กหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน การเรียนแย่ลง อาจถูกพ่อแม่หรือครูบอกว่าเด็กขี้เกียจ มีปัญหาเรื่องการเรียน แต่เด็กกลุ่มนี้แม้ว่าง่วงมากตอนกลางวัน แต่พอให้นอนจริงตอนกลางคืน กลับนอนได้ไม่สนิท และกลับตื่นบ่อยมาก มีแขนขากระตุกขยับตลอดเวลา การนอนไม่ต่อเนื่องทำให้อดนอน นอกจากนี้ปัญหาอื่นๆ อีกสองประการที่สำคัญคือ จะมีประสาทหลอน (hallucination) ตอนเริ่มเข้านอนใหม่ๆ หรือตื่นนอนใหม่ๆ และถ้ามีอารมณ์ที่รุนแรง แปรปรวน เช่น ดีใจมากๆ ตกใจมากๆ ก็จะทำให้เด็กหมดเรี่ยวแรง อ่อนแรงแบบกะทันหัน (cataplexy) กล้ามเนื้อจะไม่มีแรงทันที เกิดจากเด็กฝันในเวลาตื่นครับ สมองของเด็กกลุ่มนี้จะผิดปกติ เซลล์ประสาทที่สร้างสารเคมีชื่อ hypocretin หรือ orexin จะตายไป ทำให้กลไกควบคุมหลับตื่นผิดปกติ จะมีลักษณะเปิดปิดกลับไปกลับมาได้ง่าย (flip-flop) คนปกติเมื่อตื่นก็ควรตื่น เมื่อหลับก็ควรหลับ แต่คนที่เป็นโรคนี้จะมีความฝันโผล่เข้ามาในขณะตื่นได้ง่าย คือ มี flip flop
อีกโรคคือ kleine-levin syndrome ซึ่งพบน้อยมาก แต่ก็เจอได้ เป็นโรคของวัยรุ่น คือจะนอนมากกว่าปกติมากๆ เช่น นอนติดต่อกันรวดเดียว 20 ชั่วโมงเลย อาการจะค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนั้นนอนมากผิดปกติ กินจุมากผิดปกติในเวลาตื่นนอน ความผิดปกติจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ไม่ต่อเนื่อง ในช่วงที่เกิดอาการจะกินจุ และน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นมากหลังกินอาหาร ลักษณะที่สามคือ มีความต้องการทางเพศสูงมาก และมีจินตนาการทางเพศสูงมาก
ง่วงนอนมากผิดปกติต้องพบแพทย์