หอบหืดในยุคมลพิษ


หอบหืดในยุคมลพิษ


ผลจากมลพิษทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น และรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้อัตราความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหืดเพิ่มสูงขึ้นและรุนแรงขึ้น ถึงแม้ว่าโรคนี้จะมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันพบว่ามีหลายคนที่ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้เลย โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหืดได้แก่ สิ่งแวดล้อมภายในบ้าน (ไรฝุ่น เชื้อรา) มลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ ภาวะอ้วน การที่มีโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือไซนัสอักเสบ ภาวะเครียด เป็นต้น

โรคหืด เป็นภาวะที่เกิดจากหลอดลมอักเสบ มีผลทำให้ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ มีภาวะกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมหดเกร็ง ตีบแคบเป็นพักๆ จึงเกิดอาการเหนื่อย หายใจลำบาก ไอเรื้อรัง หอบง่ายเวลาได้รับสิ่งกระตุ้นหรือเป็นหวัด หายใจลำบากและมีเสียงวี๊ด ซึ่งหากอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ เพราะขาดอากาศหายใจ อย่างไรก็ตาม โรคหืดสามารถควบคุมไม่ให้มีอาการได้ หากใช้ยาควบคุมสม่ำเสมอ ก็จะป้องกันไม่ให้เกิดการกำเริบของโรคได้ หากสงสัยโรคนี้แนะนำว่าควรมารับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การทดสอบสมรรภภาพปอด ทดสอบภูมิแพ้ และอาจวัดการอักเสบของหลอดลม (FeNO) ร่วมด้วย

การรักษาโรคหืด
โรคหืดเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจกันผิดว่าเป็นอาการเรื้อรังรักษาไม่หาย ในความเป็นจริงแล้ว ยิ่งรักษาเร็วยิ่งมีโอกาสหายสูง โดยเฉพาะในเด็กมีโอกาสหายมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ใหญ่และผู้สูงวัย ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะจะมีอาการรุนแรงกว่าเด็ก ทำให้หายยากกว่า โดยยาที่ใช้ในการรักษา ได้แก่

1. ยาควบคุมอาการ
สำหรับใช้ระยะยาวและจะช่วยให้รักษาหาย ยากลุ่มนี้ได้แก่ ยาสเตียรอยด์พ่นสูด ยาต้านลิวโคไตรอีน ยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์ยาว ควรใช้สม่ำเสมอเพื่อลดหลอดลมอักเสบ หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น หากใช้ไปนานๆก็จะสามารถทำให้หายขาดจนไม่มีอาการของโรคได้

กรณีที่มีอาการรุนแรงที่ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นขนาดสูงแล้วยังมีอาการกำเริบ มีความจำเป็นต้องหาสาเหตุว่าอาจมีโรคพบร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ไซนัสอักเสบ กรดไหลย้อน นอนกรน จมูกอักเสบภูมิแพ้ และควรตรวจเพิ่มเติมว่าเป็นโรคหืดประเภทไหน เพื่อเลือกการรักษาโดยการใช้ยากลุ่มชีววัตถุ (biologic treatment) ) ได้แก่ benralizumab, omalizumab, mepolizumab, dupilumab ยากลุ่มนี้เหมาะสำหรับคนไข้ที่ใช้ยาพ่นขนาดสูงแล้วยังควบคุมอาการไม่ได้ ซึ่งยากลุ่มนี้มีความปลอดภัยสูง และได้ผลดีสำหรับคนไข้เฉพาะราย

ดังนั้น จึงควรตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้เลือกยาที่เหมาะสมสำหรับคนไข้แต่ละราย เช่น ทดสอบระดับการอักเสบในหลอดลม ระดับการแพ้ หรือเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมรักษาโรคนี้ ได้แก่ การส่องกล้องจี้หลอดลมด้วยความร้อน (bronchial thermoplasty) กรณีที่มีอาการเยอะที่มีภาวะกล้ามเนื้อหลอดลมหนา และการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดหรือวัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นชนิดอมใต้ลิ้น (sublingual immunotherapy)

2. ยาฉุกเฉิน
เป็นยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์เร็ว ใช้กรณีอาการหอบกำเริบ ทำให้หายหอบเร็ว แต่ไม่ได้ทำให้หายขาดเพราะไม่ได้ช่วยรักษาภาวะหลอดลมอักสบหรือหลอดลมไวจากสิ่งกระตุ้น ดังนั้นควรใช้คู่กับยาพ่นควบคุมอาการ

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคนี้
หลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศ และงดการสูบบุหรี่
มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอแบบแอโรบิค เช่น ออกกำลังกาย 20-30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 5-7 วัน เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง โยคะ หรือ ปั่นจักรยาน เป็นต้น รวมถึงการฝึกการหายใจ สามารถช่วยให้อาการลดลงได้

ปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านและสถานที่ทำงานหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เลี่ยงการใช้พรมในบ้าน หมั่นทำความสะอาดผ้าคลุมเตียง ปลอกหมอน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสไรฝุ่น

ถ้ามีภาวะอ้วน การลดน้ำหนักลง 10% จากน้ำหนักเดิม จะทำให้สมรรถภาพปอดและสามารถควบคุมอาการได้ดีขึ้น

รับวัคซีนป้องกันระบบทางเดินหายใจ เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เชื้อแบคทีเรียนิวโมค็อกคัส และไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ (covid-19)

เครดิตแหล่งข้อมูล : bnhhospital



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์