อันตราย! เภสัชกรเตือนกินยาลดความอ้วนเสี่ยงโรคทางจิตเวช


อันตราย! เภสัชกรเตือนกินยาลดความอ้วนเสี่ยงโรคทางจิตเวช

เภสัชกรเตือน การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักที่มีสารอันตราย นอกจากเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ยังมีโอกาสเป็นโรคทางจิตเวชด้วย

  ทุกวันนี้มีข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักที่มีสารอันตรายให้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง และชื่อสารหนึ่งที่หลายคนคงคุ้นหูกันดีก็คือ "ไซบูทรามีน" ซึ่งเป็นสารอันตรายที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิต

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผลกระทบของไซบูทรามีนต่อจิตประสาท อ.ภก.ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม อธิบายถึงผลจากการใช้สารไซบูทรามีนว่า สารดังกล่าวจะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยเพิ่มสารสื่อประสาท 3 ชนิด (เซโรโทนิน นอร์อีพิเนฟริน และโดปามีน) ที่ทำให้รู้สึกอารมณ์ดี ต้านซึมเศร้า และลดความอยากอาหาร แต่มีผลข้างเคียงคือ ทำให้นอนไม่หลับ ปากแห้ง ท้องผูก คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ใจสั่น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นในช่วงแรกๆ ที่มีการผลิตยาและใช้อย่างถูกกฎหมายจะมีคำแนะนำว่า ระยะแรกของการใช้ยาให้ผู้ป่วยติดตามเรื่องจังหวะการเต้นของหัวใจ ชีพจร และความดันอย่างใกล้ชิด แต่ปัจจุบันเป็นการลักลอบใช้จึงทำให้ความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้ยาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ใช้ไม่ได้รับคำแนะนำในการใช้อย่างถูกต้อง หรือกระทั่งไม่รู้ว่าตัวเองได้รับสารไซบูทรามีน

อ.ภก.ถนอมพงษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า
เนื่องจากไซบูทรามีนเป็นสารที่มีผลข้างเคียงมาก จึงมีข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้กับผู้ป่วยหลายกลุ่ม ได้แก่ คนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมความดันได้ หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยที่การทำงานของตับหรือไตบกพร่องรุนแรง เด็กและวัยรุ่น รวมถึงผู้ป่วยจิตเวชด้วย เนื่องจากสารไซบูทรามีนนั้นส่งผลทำให้อาการของโรคจิตเวชบางชนิดแย่ลง

"ผลกระทบของไซบูทรามีนต่อผู้ป่วยจิตเวช เช่น ทำให้อาการโรคจิตกำเริบหรือแย่ลง เช่น เห็นภาพหลอน หวาดระแวง เกิดอาการซึมเศร้า หรือในผู้ป่วยจิตเวชหลายชนิดมักเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่เดิม การได้รับสารไซบูทรามีนก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย นอกจากนี้ในบางรายงาน ยังพบการเกิดอาการของโรคจิตในคนที่ไม่มีประวัติโรคทางจิตเวชมาก่อนด้วย" อ.ภก.ถนอมพงษ์กล่าว

ทางด้าน ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าให้ฟังว่า
สำหรับสาเหตุที่สารไซบูทรามีนมีผลกระทบต่อจิตประสาท เพราะเป็นยาที่ถูกปรับเปลี่ยนโครงสร้างมาจาก แอมเฟตามีน หรือยาบ้า ซึ่งมีคุณสมบัติอยู่ 3 ประการ คือ หนึ่ง กระตุ้นประสาท ทำให้มีแรง คึกคัก สอง ทำให้เบื่ออาหาร และสาม ทำให้เกิดอาการทางประสาท หลอนประสาท แต่ไซบูทรามีนถูกพัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เน้นทำให้เบื่ออาหาร ลดฤทธิ์ของการกระตุ้นประสาทและหลอนประสาทลง อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ได้รับยาในปริมาณมาก ก็จะทำให้มีอาการทางประสาทได้

"มีผู้ป่วยบางรายที่ใช้สารไซบูทรามีนเกิดอาการทางประสาท เช่น ประสาท หลอน หูแว่ว ภาพหลอน พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ทั้งที่ก่อนหน้าไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวช นั่นแปลว่าคนทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคทางจิตเวชจากการใช้สารไซบูทรามีนในปริมาณมาก จะเห็นได้ว่าไซบูทรามีนนั้นมีผลกระทบที่ต่อระบบต่างๆ ในร่างกายหลายระบบ เป็นสาเหตุของการเกิดโรค และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น ปัจจุบันทางการแพทย์จึงไม่มีการใช้สารดังกล่าวในการรักษาแล้ว ส่วนผลิตภัณฑ์ที่พบเห็นว่าใส่สารไซบูทรามีนทุกวันนี้เป็นการลักลอบใช้ทั้งสิ้น" ศ.นพ.วินัยกล่าว


---

เครดิตแหล่งข้อมูล : consumerthai


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์