“โรคอ้วน” เพิ่มเสี่ยงถุงน้ำรังไข่ในผู้หญิง ชวนดูวิธีรักษาแนวอื่น
หน้าแรกTeeNee รวมเรื่องสุขภาพดีๆ สุขภาพผู้หญิง “โรคอ้วน” เพิ่มเสี่ยงถุงน้ำรังไข่ในผู้หญิง ชวนดูวิธีรักษาแนวอื่น
ช่วงนี้อ้วนขึ้นหรือเปล่า?
ได้ยินเมื่อไหร่ความรู้สึกนอยด์ก็เริ่มมาเยือน คิดในด้านดีให้ถือคำทักเป็นคำเตือน เพราะที่จริงแล้วความอ้วนไม่ใช่เรื่องดี เป็นอันตรายต่อสุขภาพรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อโรค Metabolic syndrome และยังเสี่ยงให้เกิดภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบในผู้หญิงได้อีกด้วย
รศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์ส่องกล้องและการผ่าตัดโรคอ้วน ศูนย์ผ่าตัดและรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า เมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome) คือกลุ่มความผิดปกติของระบบเมตาบอลิก จากข้อมูลของ Interasia ที่ได้ทำการศึกษาในประชากรไทยทั่วประเทศที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปจำนวน 5,091 คน พบว่า
ความชุกของโรคอยู่ที่ร้อยละ 21.9 – 33.3 ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัย และพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ความผิดปกติที่พบได้บ่อยคือ ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี HDL – Cholesterol ต่ำ และพบว่าเมื่ออายุเพิ่มขึ้นโอกาสที่จะเป็น Metabolic syndrome ก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นตาม
สาเหตุของโรคเมตาบอลิกซินโดรม ในปัจจุบันมีความเชื่อว่าเป็นผลมาจาก ‘โรคอ้วน’ โดยเฉพาะอ้วนลงพุง นำไปสู่ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ไขมันดีในเลือดต่ำ รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด และ ‘ภาวะดื้อต่ออินซูลิน’ ซึ่งเกิดได้ทั้งจากพันธุกรรมและสาเหตุภายนอก เช่น ผลกระทบจากการใช้ยาบางชนิด โดยคนที่อ้วนลงพุงจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากกว่าคนที่อ้วนบริเวณสะโพก
เกณฑ์ในการวินิจฉัยภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome)
มีอยู่หลายเกณฑ์ด้วยกัน ในที่นี้ขอใช้เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO)1999 ได้แก่ ผู้ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดยมีความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด FBS (Fasting Blood Sugar) หลังอดอาหารนาน 8 ชั่วโมงมากกว่าหรือเท่ากับ 110 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร (mg/dl) หรือการตรวจน้ำตาลหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง ผลมากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร (mg/dl) ร่วมกับความผิดปกติอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อดังต่อไปนี้คือ
1.ความอ้วน เมื่อตรวจหาค่าดัชนีมวลกาย Body Mass Index (BMI) แล้วพบว่ามากกว่าหรือเท่ากับ 30 kg/m2 หรือ อัตราส่วนระหว่างเส้นรอบวงเอวต่อสะโพกมากกว่า 0.9 ในผู้ชาย และมากกว่า 0.85 ในผู้หญิง
2.ระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) มากกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร(mg/dl) หรือมีไขมันที่ดีสำหรับหลอดเลือดแดง (HDL-cholesterol) น้อยกว่า 35 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร(mg/dl)ในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 39 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร(mg/dl) ในผู้หญิง
3.ค่าความดันโลหิต น้อยกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท หรือกำลังรับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่
4อัลบูมิน (Albumin) ในปัสสาวะ มากกว่าหรือเท่ากับ 20 Microgram/Min หรืออัตราส่วนของ อัลบูมิน (Albumin):ครีเอทินิน (Creatinine) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 mg/g
แต่ทั้งนี้โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกินในคนเอเชียจะต่างจากคนตะวันตก เนื่องจากค่า BMI หรือดัชนีมวลกาย ที่เป็นตัวชี้วัดในการเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงแตกต่างกัน การวินิจฉัยภาวะเมตาบอลิกซินโดรมในคนเอเชียจึงควรใช้ค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25 kg/m2 และเส้นรอบวงเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 ซม.ในผู้ชาย หรือมากกว่าหรือเท่ากับ 80 ซม.ในผู้หญิง
วิธีการรักษา ทำยังไง?
ควรแก้ที่ปัญหาโรคอ้วนและภาวะดื้อต่ออินซูลิน ได้แก่ ควบคุมการรับประทานอาหาร เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและในปริมาณที่เหมาะสม ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
มีการศึกษาพบว่าการลดน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ทำให้ภาวะเมตาบอลิกซินโดรมดีขึ้นได้ด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย และบางครั้งแพทย์อาจให้รับประทานยาร่วมด้วย เช่น ยาที่ป้องกันการดูดซึมของไขมัน ยาที่ช่วยลดความอยากอาหาร ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะการใช้ยาอาจให้ผลดีในระยะสั้นและมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้
- การผ่าตัดใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคอ้วนและลดน้ำหนักไม่ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ ปัจจุบันจึงได้นำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเมตาบอลิกซินโดรม ซึ่งเห็นผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่สำคัญมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์ที่ตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด ได้แก่
- การผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะ Laparoscopic Sleeve Gastrectomy การผ่าตัดปรับรูปร่างของกระเพาะให้มีความจุเหลือ 150 ซีซี โดยตัดกระเพาะและส่วนที่ผลิตฮอร์โมนควบคุมความหิวออกประมาณ 80% เป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้องบริเวณหน้าท้อง แผลเล็กขนาด 0.5 ซม. แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดต้องมากด้วยประสบการณ์ วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีค่า BMI หรือดัชนีมวลกายไม่เกิน 45 และมีโรคร่วม
การผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะและทำบายพาส Laparoscopic Gastric Bypass การผ่าตัดแยกกระเพาะอาหารให้มีขนาดเล็กลงเป็นรูปกระเปาะมีความจุ 30 ซีซี จากนั้นตัดแยกลำไส้เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งมาต่อกับกระเพาะเพื่อบายพาสอาหารความยาว 100-150 ซม. เหมาะกับผู้ที่มีค่า BMI หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 45 และมีโรคร่วม
รศ.นพ.สุเทพ กล่าวอีกว่า…
ขณะเดียวกัน ความอ้วนยังส่งผลกระทบต่อ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome–PCOS) ในผู้หญิง ภาวะนี้เป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อหรือฮอร์โมนในร่างกาย โดยจะพบซีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่ เมื่อซีสต์หรือถุงน้ำเข้าไปเบียดรังไข่ ส่งผลให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ ซึ่งสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ยังไม่แน่ชัด อาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรือความผิดปกติของหลายระบบในร่างกาย
อาทิ ต่อมใต้สมอง รังไข่ ต่อมหมวกไต การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์จึงไม่ใช่เรื่องดี โดยเฉพาะคุณผู้หญิงหากตกอยู่ในภาวะอ้วนอาจส่งผลให้มีรอบเดือนผิดปกติ ความอ้วนมีส่วนทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติโดยเฉพาะการอ้วนลงพุง เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนผลิตจากไขมัน เมื่อไขมันมากไปการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมการตกไข่ในเพศหญิงอาจเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้ไม่มีการตกไข่ ประจำเดือนมาน้อยแบบกะปริบกะปรอย หรือประจำเดือนขาดหายไป ทำให้มีบุตรยากซึ่งมักพบในวัยเจริญพันธุ์อายุประมาณ 25-35 ปี หากไม่รีบรักษาอาจทำให้มีบุตรยาก เสี่ยงต่อการมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ในอนาคต
อาการที่ผู้หญิงควรสังเกต
1.ประจำเดือนเว้นช่วงนาน มาห่างกันมากกว่า 35 วัน หรือมาไม่เกิน 6 – 8 ครั้งต่อปี
2.รอบประจำเดือนขาด มาไม่ติดต่อกันนานเกิน 3 รอบ เทียบกับผู้หญิงที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ หรือมาไม่ติดต่อกัน 6 เดือนในผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แสดงถึงภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง
3.ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย มามากเกินไป นานเกินไป อาจเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ
4.ภาวะแอนโดรเจน (Androgen) เกิน คือ ฮอร์โมนเพศชายที่มีอยู่ในร่างกายทั้งของผู้ชายและผู้หญิง เมื่อผู้หญิงมีมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะขนดก สิวขึ้นมากกว่าปกติ ผิวมัน ศีรษะล้าน
5.อ้วน น้ำหนักเกินมาก ทำให้ดื้อต่อน้ำตาลอินซูลิน เพิ่มอาการของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ได้ ความรุนแรงของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบหากไม่รีบรักษา อาจส่งผลให้มีบุตรยาก หรือเพิ่มความเสี่ยงการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก เสี่ยงมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งเต้านม
วิธีรักษาคือ ลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนัก
หากไม่แน่ใจควรพบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ได้แก่ รักษาดื้ออินซูลิน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รักษาและป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว ฯลฯ ดังนั้นผู้หญิงทีมีความเสี่ยง ควรป้องกัน ด้วยการ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ เลี่ยงแป้งและอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และไม่เครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส เพราะความเครียดทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ
ทั้งนี้การรักษาทั้ง 2 รูปแบบจะเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดน้ำหนัก และการรับประทานยาก่อน แต่หากไม่เป็นผลแพทย์จะพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดมักได้ผลดีในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคอ้วนร่วมด้วย ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีสุขภาพแข็งแรงรูปร่างที่เหมาะสม ลดเสี่ยงและห่างไกลจากโรคเรื้อรัง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ผ่าตัดและรักษาโรคอ้วนกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ โทร.02-310-3788 หรือ Call Center โทร.1719
ที่มา healthandtrend
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!