ปวดต้นคอโรคฮิตของคนยุค 4.0


ปวดต้นคอโรคฮิตของคนยุค 4.0

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักจะเผชิญกับอาการปวดบริเวณต้นคอเพิ่มมากขึ้นซึ่งมีสาเหตุจากการพัฒนาเทคโนโลยี การใช้คอมพิวเตอร์ การใช้โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น ผู้ใช้งานก้มคอใช้อุปกรณ์เหล่านี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้เกิดปัญหาปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ และกล้ามเนื้อบริเวณบ่า และสาเหตุอีกอย่างคือประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้ประชากรมีอายุเพิ่มมากขึ้น เกิดปัญหาของโรคข้อเสื่อมและหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเพิ่มขึ้น จึงทำให้พบปัญหาอาการปวดคอเพิ่มมากขึ้น

ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยถึง สาเหตุของอาการปวดต้นคอ ว่า สามารถแบ่งได้ตามช่วงอายุและอุบัติการณ์ของการเกิดอาการ ปวดต้นคอ ซึ่งสามารถเกิดได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีเป็นต้นไป สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการใช้งานไม่ถูกท่า การนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง การก้มใช้งานมือถือ ทำให้ต้องก้มคอตลอดเวลาซึ่งส่งผลทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็งตัวทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามบริเวณต้นคอและสะบักทั้ง 2 ข้าง ในบางครั้งที่มีอาการปวดต้นคออย่างรุนแรงอาจจะเกิดเนื่องจากหมอนรองกระดูกต้นคอเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการบวมและอักเสบของเส้นประสาท

 นอกจากนี้ตัวหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนออกมานั้นจะมีสารที่ทำให้เกิดการอักเสบโดยตรงต่อเส้นประสาทจึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดคอร้าวลงแขนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งในบางรายอาจจะมีอาการชา และอ่อนแรงของแขนในข้างที่เส้นประสาทไปกดทับด้วย เมื่ออายุมากขึ้น ส่วนใหญ่ประมาณตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป อาการปวดคอส่วนใหญ่มักเกิดจากกระบวนการเสื่อมของหมอนรองกระดูกและการอักเสบของข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลัง บางครั้งหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอมีการเสื่อมและเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท หรือมีกระดูกงอกจากการเสื่อมของกระดูกข้อต่อสันหลังไปกดทับเส้นประสาท

สำหรับ การป้องกันและการรักษา คุณหมอแนะนำว่า

1.การปรับเปลี่ยนท่าทางและการใช้ชีวิตประจำวัน
พยายามหลีกเลี่ยงการนั่งอ่านหนังสือนานๆ การก้มคอใช้โทรศัพท์มือถือ การแหงนศีรษะ เมื่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานจำเป็นต้องปรับตำแหน่งของจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา การเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ แม้กระทั่งการนอนดูโทรทัศน์นานๆ ควรมีการปรับท่าทางให้เหมาะสม เช่น ควรนั่งดูโทรทัศน์มากกว่า ไม่ก้มคอใช้งานโทรศัพท์ มือถืออย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เมื่ออายุมากขึ้น ควรจะหลีกเลี่ยงกีฬาบางประเภทเพราะอาจจะทำให้มีอาการปวดต้นคอเพิ่มมากขึ้นได้เช่น แบดมินตัน เพราะมักจะต้องแหงนศีรษะเวลาตีลูก ซึ่งจะทำให้ช่องทางเดินประสาทแคบลงเมื่อแหงนศีรษะ ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทเพิ่มมากขึ้น และเกิดการอักเสบของกระดูกสันหลังบริเวณข้อต่อ ใน ผู้ป่วยที่มีอาการปวดต้นคอมากควรหลีกเลี่ยงการนอน สระผมที่ร้านทำผม เพราะการนอนสระผมจะมีการแหงนศีรษะ มากทำให้ช่องทางเดินประสาทแคบลง และทำให้กระดูก ข้อต่อเกิดการอักเสบ จึงทำให้เกิดอาการปวดเพิ่มมากขึ้นได้

2. การทำกายภาพบำบัด
ด้วยการดึงคอ เป็นการใช้แรงดึงกระทำต่อร่างกายและกระดูกสันหลังส่วนคอ ช่วยทำให้ช่องระหว่างกระดูกสันหลังส่วนบริเวณคอกว้างขึ้น ลดการกดทับเส้นประสาท ช่วยในการยืดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังมีการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงช่วยในการบำบัดรักษา คลื่นเหนือเสียงที่มีความถี่ 20,000 รอบต่อนาที ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความร้อนลึกเฉพาะที่ ส่งผลในการช่วยลดอักเสบ อาการปวด เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อ ช่วยทำให้อาการของผู้ป่วยทุเลาลง

3. การรับประทานยาลดปวด ยาลดการอักเสบ ซึ่งยาจะออกฤทธิ์ในการลดปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งยาแต่ละชนิดก็ออกฤทธิ์แตกต่างกัน ก็ช่วยทำให้อาการปวด อาการชาทุเลาลงได้ ข้อควรระวังในการใช้ยาลดการอักเสบคือต้องรับประทานยาหลังอาหารทันทีเพราะอาจจะมีผลทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และไม่ควรรับประทานต่อเนื่องนานเกิน 1 เดือน

4. การฉีดยาชาระงับปวดเข้าไประหว่างชั้นกล้ามเนื้อ
ซึ่งเป็นที่อยู่ของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่มีอาการเกร็งตัว เพื่อลดการนำสื่อประสาท จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อตรงบริเวณคอ และบริเวณบ่าและกล้ามเนื้อรอบๆสะบัก คลายตัวลง ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ จะช่วยลดอาการปวดได้ดีมากโดยเฉพาะในช่วงระยะ 2 สัปดาห์หลังการฉีด เป็นต้น

ที่มา : แนวหน้า


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์