นาฬิกานอนเคลื่อนที่ โรคที่ไม่ควรมองข้าม
ลักษณะของโรค : เป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงวงจรการนอนและการตื่น โดยคนที่มีปัญหาจะไม่สามารถควบคุมการนอนและการตื่นให้อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ ส่วนใหญ่เกิดจาก 2 ปัจจัยหลักคือ พฤติกรรมและพันธุกรรม คนที่นอนดึกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือนอนไม่เป็นเวลา จะส่งผลต่อเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการง่วงนอน และหากยิ่งฝืนนอนในเวลากลางวันเพื่อชดเชย ก็ยิ่งฝืนการหลั่งเมลาโทนินเข้าไปใหญ่ ยิ่งทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น
กลุ่มเสี่ยง : คนที่ต้องมีการเปลี่ยนตารางเวลาในการทำงานบ่อยๆ เช่น พยาบาล ตำรวจ หรือพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เนื่องจากระบบการนอนสลับกับการทำงานปกติของร่างกาย
อาการที่พึงระวัง : นอนไม่ค่อยหลับ แต่เมื่อถึงเวลาหลับแล้วจะตื่นยาก เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วจะมีอาการเหมือนคนนอนไม่พอ เหม่อลอย ความจำจะลดน้อยลง มีอาการปวดหัวรุนแรงจนต้องพึ่งยา
วิธีการรักษา : ในกลุ่มของคนนอนดึกจนเป็นนิสัยต้องปรับพฤติกรรมการนอนให้ถูกสุขลักษณะ โดยอันดับแรก ควรนอนหลับและตื่นให้เป็นเวลาทุกๆ วัน ไม่เว้นวันหยุด ประการที่ 2 หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงงดสูบบุหรี่ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มีสารที่ไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทให้ตื่นตัวตลอดเวลา ให้เปลี่ยนมาดื่มน้ำอุ่นหรือนมอุ่น จะช่วนให้นอนหลับได้ดีขึ้น
รู้ไว้ไกลโรค :
1. นอนให้เป็นเวลา ช่วงเวลาการนอนที่ดีที่สุดคือ 22.00-06.00 น.
2. หากเคยมีพฤติกรรมการนอนดึกมาแล้ว ให้พยายามปรับเวลานอนให้เข้าสู่สภาวะปกติของร่างกาย โดยเริ่มจากการเลื่อนเวลานอนทีละนิด
3. หากมีอาการนอนไม่หลับต่อเนื่อง ต้องรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ