ออฟฟิศซินโดรม แก้ได้ด้วยกายภาพบำบัด
"ออฟฟิศซินโดรม" โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน เนื่องจากร่างกายเสียสมดุล การทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานตลอดเวลา ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และปวดเมื่อยตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ
อาการแบบนี้แหละ ... เรียก "ออฟฟิศซินโดรม"
อาการของโรคออฟฟิศซินโดรมที่พบได้บ่อย ๆ คือ อาการเจ็บปวดที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก บางรายมีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน หรือก่อให้เกิดความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด (physical therapy) เพื่อฟื้นฟูให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
อาการปวดคอบ่าไหล่ เพราะนั่งทำงานทั้งวันเป็นเวลานาน ๆ ไม่ยอมลุกขึ้นเหยียดตัวบ้าง บุคคลเหล่านี้มักมีอาการปวดตึงบริเวณคอ บ่า ไหล่ และบริเวณสะบักหลัง อาการปวดเกร็งมากจนอาจหมุนคอ ก้มหรือเงยไม่ได้ ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวควรเข้ารับการบำาบัดด้วยการนวดคลายกล้ามเนื้อ
อาการยกแขนไม่ขึ้น เป็นอาการเรื้อรังจากการปวดตึงกล้ามเนื้อตั้งแต่คอ บ่า ไหล่ และร้าวลงไปที่แขน ยกแขนไม่ขึ้น เนื่องจากมีพังผืดมาเกาะที่บริเวณสะบักและหัวไหล่ การรักษาจำเป็นต้องใช้เทคนิคการรักษาด้วยมือร่วมกับการใช้เครื่องมือกลุ่มไฟฟ้า เพื่อให้พังผืดแข็งตึงนั้นอ่อนตัวและคลายความปวดลง
มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อค มีอาการอักเสบของเส้นเอ็นนิ้วมือสาเหตุมาจากการใช้คอมพิวเตอร์ การจับเมาส์ในท่าเดิมนาน ๆ ส่งผลให้กดทับเส้นประสาทและเอ็นกล้ามเนื้อจนอักเสบ เกิดพังผืดยึดจับบริเวณข้อมือและเอ็นข้อนิ้วมือ จึงทำให้เกิดอาการปวด ชามือ และนิ้วล็อค
ปวดหลังเรื้อรัง การนั่งหลังค่อมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ หรือยืนใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน ลักษณะเช่นนี้ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก และน่องเกร็ง อยู่ตลอดเวลา อาจทำให้มีอาการปวดร้าวที่หลังเรื้อรังได้
อาการปวดขาและตึงที่ขา เกิดจากการนั่ง เดิน หรือยืนนาน ๆ จนทำให้ปวดตึงกล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อทั่วทั้งขา บางรายปวดร้าวไปที่เข่าและข้อเท้า ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานอาจทำให้เกิดอาการปวดร้าวและชาลงไปบริเวณเท้าและปลายนิ้วเท้าได้
แนวทางการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม ขึ้นอยู่กับอาการและระดับความรุนแรง ตั้งแต่การรักษาด้วยยา การทำกายภาพบำบัด ลดอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ และเอ็นกล้ามเนื้อด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ใช้มือดัดดึง/นวด (mobilization/massage) การกดตรงจุดกล้ามเนื้อ (trigger point) ร่วมกับการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด โดยใช้คลื่นกระเเทก (shockwave) รักษาโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (shotwave diathermy) คลื่นเหนือเสียง (ultrsound) เครื่องเลเซอร์ (low level laser) การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (electrical stimulation) การประคบความร้อน บางรายต้องได้รับการดึงคอ/ดึงหลัง (traction) ร่วมกับการบริหารกล้ามเนื้อ ทั้งนี้การเลือกใช้วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับตามความเหมาะสม และการวินิจฉัยโรคจากดุลพินิจของนักกายภาพบำบัด
ดูแลตัวเองหลังฟื้นฟูทำกายภาพบำบัด
หลังจากที่ทำการฟื้นฟูด้วยการทำกายภาพบำบัดและรักษาจนกระทั่งอาการดีขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญคือความรู้ความเข้าใจในการปฎิบัติตัวเพื่อไม่ให้กลับไปเป็นซ้ำอีก โดยนักกายภาพบำบัดจะให้ความรู้พร้อมคำแนะนำให้ผู้ป่วยกลับไปฝึกปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันการเกิดอาการปวดซ้ำ เพราะการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมด้วยวิธีต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดที่จะป้องกันอาการจากออฟฟิศซินโดรมจำเป็นต้องทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การบริหารกล้ามเนื้อให้มีความยืดหยุ่น/แข็งแรง และการปรับอิริยาบถในการทำงานให้ถูกต้องด้วย