จิตแพทย์อธิบาย “โรคมโน”เหมือนบอยสกล เป็นกันเยอะในสังคม
หน้าแรกTeeNee รวมเรื่องสุขภาพดีๆ โรคภัยไข้เจ็บ จิตแพทย์อธิบาย “โรคมโน”เหมือนบอยสกล เป็นกันเยอะในสังคม
นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ชื่อดัง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวของแฮชแท็ก #บอยสกล โดยใช้คำสั้นๆว่า "โรคมโน" ซึ่งความเป็นจริงคำว่า "มโน" เป็นคำที่ใช้กันโดยทั่วไปเหมือนคนที่คิดเองเออเอง แต่งเรื่องราวขึ้นมาเอง บางครั้งก็หลอกคนอื่น หลอกตัวเอง ซึ่งเกี่ยวกับคำว่า Pseudologia Fantastica ถูกบัญญัติโดย Anton Delbrueck ตั้งแต่ปี 1891 โดยคำว่า pseudo = เทียม (ไม่แท้) + logos or logic = ตรรกะและเหตุผล + fantastica or fantastic = อลังการเว่อร์ รวมกันกลายเป็น "ตรรกะเว่อร์ๆ ที่หามูลความจริงได้ยาก"
คำนี้เป็นคำที่คนรู้จักกันค่อนข้างน้อย แม้แต่วงการจิตเวชเอง ก็ไม่ค่อยพูดถึงมากนัก และคำนี้ก็ไม่ได้บ่งบอกถึงการป่วยเป็นโรค แต่เรียกว่าเป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้สำหรับพฤติกรรมหนึ่งที่สงสัยว่าจะมีอาการบางอย่าง และยังเป็นรูปแบบหนึ่งของปัญหาทางด้านสุขภาพจิต เช่น จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกที่โกหกแบบมีพยาธิสภาพ (pathological lying) คือ มีปัญหาด้านสุขภาพจิตบางอย่างที่นำไปสู่การโกหกเป็นตุเป็นตะ หลอกให้คนเชื่อด้วยการใส่สีตีไข่ให้ดูเวอร์วังอลังการ คนที่ฟังจะรู้สึกตื่นเต้นและสนใจในตัวผู้พูดอย่างมาก และตกเป็นเหยื่อได้ในที่สุด
ทั้งนี้สำหรับการโกหกโดยของคนทั่วไป อาจเพื่อปกป้องเรื่องราวอะไรบางอย่างที่ไม่อยากเปิดเผย แต่ใน pseudologia fantastica จะเป็นการพูดจาโกหกแบบมีความสะใจ เมามันเข้าว่า รู้สึกอินกับการได้พูดโกหกมาก เวลาพูดไปเหมือนกับคิดว่าเหตุการณ์ที่กำลังพูดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เรียกง่ายๆ ว่าหลอกคนอื่นแล้วกลายเป็นหลอกตัวเองไปด้วยว่าเหตุการณ์ทั้งหมดมีอยู่จริง และมักจะพูดให้ตัวเองดูดีและถูกอยู่เสมอ เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง และมักจะใส่ร้ายผู้อื่นในคราเดียวกัน
โดยจะพบได้ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป แต่อายุเฉลี่ยที่พบบ่อยๆ คือ 22 ปี ซึ่งถ้าพิจารณาถี่ถ้วนจะเห็นว่าเป็นช่วงตั้งแต่วัยรุ่นตอนกลางจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น และจะต่อเนื่องเรื่อยไปจนถึงวัยชราได้ถ้ายังมีแรงโกหก ดังนั้นช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นช่วงเวลาของบุคลิกภาพได้ฟอร์มตัวขึ้นมาเป็นเรื่องเป็นราวเรียบร้อยแล้ว กลายเป็นลักษณะเด่น (trait) ทางด้านบุคลิกภาพของแต่ละคนที่อาจจะซ่อนอยู่
นอกจากนี้ยังสามารถพบอาการคล้ายๆ แบบนี้ได้ในผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชได้เลย เช่น โรคไบโพลาร์ ออทิสติก ปัญหาบุคลิกภาพชนิดต่างๆ บางตำราบอกว่าเจอได้บ่อยในบุคลิกภาพชนิดแบบชีวิตล้มเหลว ชอบทำร้ายตัวเอง กรีดข้อมือ กินยาฆ่าตัวตาย (Borderline Personality Disorder) หรือบุคลิกภาพแบบชอบเรียกร้องความสนใจ ยั่วยวน อยากให้คนชื่นชมเยอะๆ (Histrionic Personality Disorder) และบุคลิกภาพชนิดหลงตัวเอง ผู้ที่ชอบทำตัวเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เอาแต่ใจตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder)
แต่ที่พบได้บ่อยและน่ากลัวที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นตัวแทนบุคลิกภาพของคนในสังคมที่กำลังโด่งดัง หรือเคยโด่งดังในอดีตและที่เคยยกตัวอย่างมาก็คือ บุคลิกภาพชนิดต่อต้านสังคมหรือสันดานโจรนั่นเอง (Antisocial Personality Disorder) คราวนี้ก็ต้องไปหาเจ้าตัวคนก่อเรื่องให้เจอก่อน แล้วสืบสวนให้เป็นเรื่องเป็นราวชัดเจนว่าพฤติกรรมดังกล่าว น่าจะเป็นปัญหาสุขภาพจิตแบบไหน
จุดที่น่าสนใจก็คือถ้ามีประวัติและข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ เช่น เรื่องเงินทอง โกง ขโมย หลอกลวงเกิดขึ้น ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคทางจิตเวช เพราะคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชส่วนใหญ่ มักจะไม่ค่อยวางแผนแยบยลเป็นเรื่องเป็นราวอยู่ได้นาน และไม่ได้เป็นคนที่มีจิตใจคิดร้ายหรือทำร้ายผู้อื่นให้เกิดความเสียหายสักเท่าไหร่ ซึ่งมักจะนึกถึงพวกที่มีปัญหาทางด้านบุคลิกภาพหรือ "พวกโรคนิสัยเสีย สันดานเสีย" เสียมากกว่า เคสแบบนี้หลายเคสส่วนใหญ่มักจะเป็นจบลงด้วยคดีอาญา เป็นอาชญากรหรือแม้แต่เรื่องของการมีคดีแพ่ง มีการฟ้องร้องต่างๆ เกิดขึ้น อย่างแน่นอน
ขอบคุณภาพและข้อมูล @Kampanart Tansithabudhkun, M.D.
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!