โรคจอประสาทตาเสื่อม


โรคจอประสาทตาเสื่อม


จอประสาทตาหรือ Retina
เป็นส่วนประกอบดวงตาที่อยู่บริเวณหลังผนังด้านในสุด มีลักษณะเป็นชั้นบางๆ ประกอบไปด้วยเซลล์รับภาพจำนวนมาก ในภาวะที่จอประสาทตาปกติ เมื่อเราใช้สายตาเพื่อมอง แสงที่กระทบและหักเหผ่านเลนส์ตาจะมาตกกระทบจุดศูนย์กลางของจอประสาทตาพอดี ทำให้ภาพที่มองเห็นมีความคมชัด แต่เมื่อไรก็ตามที่เกิดปัญหาขึ้นกับจอประสาทตา การมองเห็นภาพก็ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง

โรคจอประสาทตาเสื่อม คืออะไร
เกิดจากภาวะเสื่อมของจุดรับภาพชัดบริเวณกลางจอประสาทตา ทำให้การมองเห็นส่วนกลางของภาพมัวลง มองภาพไม่ชัด มองเห็นบิดเบี้ยว ตาพร่ามัว มีจุดดำหรือเงาตรงกลางภาพ มีความร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น ต้องรีบทำการรักษาโดยเร็วที่สุดเพื่อรักษาและช่วยควบคุมไม่ให้การมองเห็นแย่ลงจนรบกวนคุณภาพชีวิต ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาจอประสาทตาเสื่อมให้หายขาด ทำได้เพียงป้องกันและชะลอความเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นได้

โรคจอประสาทตาเสื่อมมีกี่แบบ
มี 2 ชนิด ได้แก่ แบบเปียกและแบบแห้ง

โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียกเกิดขึ้นจากการที่เมื่อจอประสาทตาเสื่อม ร่างกายจะมีการสร้างเส้นเลือดที่ผิดปกติขึ้นมาที่บริเวณจุดรับภาพ เส้นเลือดดังกล่าวมีความเปราะบาง เมื่อเกิดการแตกหรือรั่วซึม ทำให้มีเลือดออกที่จอประสาทตา จุดรับภาพบวม ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวแบบเฉียบพลัน

โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง มักไม่เกิดอย่างเฉียบพลัน แต่เซลล์จอตาจะเสื่อมลงอย่างช้าๆ ส่งผลให้การมองเห็นค่อยๆ ลดลง จนสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

อะไรเป็นสาเหตุของโรคจอประสาทตาเสื่อม
เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เชื่อว่าเป็นขบวนการเสื่อมสภาพของร่างกาย ปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม ได้แก่

อายุ : พบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป
พันธุกรรม : มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของคนที่เป็นโรคกับญาติสายตรง
บุหรี่ : มีหลักฐานทางการแพทย์พบว่า การสูบบุหรี่ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างชัดเจน
ความดันเลือดสูง : คนไข้ที่ต้องทานยาลดความดันเลือด และมีระดับของไขมัน Cholesterol ในเลือดสูงและระดับ Carotenoid ในเลือดต่ำมีความเสี่ยงสูงมากต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว
แสงอัลตราไวโอเลตหรือแสงอาทิตย์
วิธีการรักษาและการป้องกัน
การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมมีเป้าหมายอยู่ที่การชะลอความเสื่อมของจอประสาทตา

กรณีที่มีหลอดเลือดผิดปกติเกิดขึ้น แพทย์อาจรักษาด้วยเลเซอร์ชนิดพิเศษหรือฉีดยาเข้าในน้ำวุ้นลูกตาเพื่อยับยั้งการหลั่งสารที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดผิดปกติ บางกรณีอาจพิจารณาใช้การผ่าตัดวุ้นตาและจอตาร่วมด้วย การรักษาและติดตามผลต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง แพทย์อาจให้รับประทานวิตามินสูตรเฉพาะเพื่อชะลอการเสื่อมลง แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์โดยละเอียด เพราะโรคจอประสาทตาเสื่อมในระยะแรกนั้นอาจไม่มีอาการใดๆ ให้สังเกตได้

ในด้านการป้องกัน แพทย์ขอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตรวจตาเป็นประจำทุกปี หรือเมื่อมีการมองเห็นภาพที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวควรรีบมาพบจักษุแพทย์ และท่านสามารถทดสอบการมองเห็นเป็นประจำด้วยตนเอง ด้วยตารางตรวจจุดภาพชัด หรือมองสิ่งที่เป็นเส้นตรง เช่น กรอบประตู หน้าต่าง ถ้าพบความผิดปกติควรรีบมาพบจักษุแพทย์

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม
อาการแสดงโรคจอประสาทตาเสื่อมอาจแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน และยากที่จะสังเกตความผิดปกติในการมองเห็นเองตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะถ้าตาอีกข้างหนึ่งยังมองเห็นได้ดี แต่ถ้ามีจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นในตาทั้ง 2 ข้าง คนไข้จะรู้สึกถึงความผิดปกติในการมองเห็นอย่างรวดเร็ว เช่น มองตรงกลางภาพไม่ชัด ส่วนกลางของภาพที่มองขาดหายไป หรือมืดดำไปหรือภาพที่เห็นดูบิดเบี้ยวไป

ทำไมบุคคลทั่วไปที่ไม่มีอาการผิดปกติด้านจอประสาทตา จึงต้องตรวจสุขภาพตา
เนื่องจากการที่คนไข้จะรู้สึกถึงความผิดปกติจากโรคจอประสาทตาเสื่อมตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเป็นสิ่งที่ยาก แต่ในขณะเดียวกันการตรวจพบและให้การรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะว่า จอประสาทตาที่เสื่อมเสียไปแล้วมีแต่จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ การรักษาในปัจจุบันทำได้เพียงหยุดหรือชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาให้ช้าที่สุด ซึ่งอาจรักษาไม่ได้เลยถ้าโรคเป็นรุนแรง


เครดิตแหล่งข้อมูล : bnhhospital


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์