เช็กให้ชัวร์...สัญญาณเตือนไทรอยด์


เช็กให้ชัวร์...สัญญาณเตือนไทรอยด์

ไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณลำคอ ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ เพื่อเผาผลาญพลังงานในร่างกายและช่วยทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติ โดยเฉพาะหัวใจและระบบประสาท หากต่อมไทรอยด์ทำงานมากหรือน้อยไปจะส่งผลทำให้สมรรถภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายแปรปรวน

ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Hyperthyroid)

เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ก็จะเกิดภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูง จึงมีการเผาผลาญพลังงานมากกว่าปกติและมีอาการต่างๆ เช่น

*ใจสั่น มือสั่น ตื่นเต้นตกใจง่าย
*ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก
*ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ
*กินเก่งแต่น้ำหนักไม่ขึ้นหรือน้ำหนักลดลง

ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism)
เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ซึ่งเกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป จึงมีการเผาผลาญพลังงานน้อยกว่าปกติและมีอาการต่างๆ เช่น

*เฉื่อยชา เบื่อ ไม่อยากทำอะไร
*ง่วงนอนบ่อย ขี้หนาว ผมร่วง
*เหนื่อยง่ายทำอะไรไม่ค่อยไหว
*น้ำหนักขึ้นหรืออ้วนแบบบวมฉุโดยไม่มีสาเหตุ

กลุ่มเสี่ยงที่ต้องรีบมาพบแพทย์ คือ
*มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นไทรอยด์
*น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้น 3 กิโลกรัม ภายใน 1 เดือน
*ถ้ารู้สึกคอโตหรือคลำเจอก้อนที่บริเวณคอ ควรรีบมาพบแพทย์

ตรวจเช็กความเสี่ยง
ปัจจุบันมีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค วิธีที่ดีที่สุด คือการตรวจพบให้เร็วที่สุด หากคุณมีความผิดปกติดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อตรวจคัดกรอง เพื่อการรักษาที่ถูกต้องตรงจุด

การรักษาโรคไทรอยด์ทำงานผิดปกติ

การรักษาโรคไทรอยด์ แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาจากระดับความรุนแรงของโรค รวมถึงลักษณะเฉพาะของผู้ป่วยในแต่ละราย เช่น อายุของผู้ป่วย ขนาดของต่อมไทรอยด์ ระยะเวลาของโรค ซึ่งโดยทั่วไปการรักษาไทรอยด์จะมี 3 รูปแบบ ดังนี้

-รักษาด้วยยา การรักษาด้วยการใช้ยา จะใช้เวลาในการรักษายาวนานราว 1-2 ปี โดยผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ผลในการควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ เพราะหากรับประทานยาไม่อย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้นได้ และยากต่อการรักษา

-รักษาด้วยการกลืนแร่ไอโอดีน การรักษาด้วยวิธีนี้มักพิจารณาใช้ในผู้ป่วยที่มีอายุมาก และมีอาการค่อนข้างรุนแรง หรือรายที่กลับมาเป็นซ้ำหลังจากเคยรักษาด้วยการกินยามาก่อนแล้ว

-รักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้การผ่าตัดเป็นทางเลือกสุดท้าย จะรักษาในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากๆ และต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมากขึ้น แพ้กลุ่มยากิน หรือเกิดผลข้างเคียงต่อระบบเม็ดเลือดและหลอดเลือดจากการรักษาด้วยการกินยาหรือกลืนแร่ไอโอดีนมาแล้ว


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์