ปวดหัวเรื้อรัง หรือต้องระวังเนื้องอกในสมอง


ปวดหัวเรื้อรัง หรือต้องระวังเนื้องอกในสมอง


"ปวดหัว"
ใครๆ ก็เคยเป็น แต่หากปวดหัวเรื้อรังแม้ในช่วงที่ร่างกายได้รับการพักผ่อนเต็มที่ แถมไม่มีชนวนความเครียดหรือมีความกังวลใดๆ ด้วยแล้วล่ะก็ สัญญาณนั้นอาจเป็นข้อความสั้นๆ จากสมอง ที่บ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่าง เช่น มีเนื้องอกในสมอง (Brain Tumor) ได้หรือไม่?

3 อาการ(ผิด)สังเกต เสี่ยงมีเนื้องอกในสมอง
ปวดหัวถือเป็นอาการที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ทั้งยังพบได้บ่อยแบบรายวัน ด้วยเพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวนั้นมีหลากหลาย เช่น ค่าสายตาที่เปลี่ยนไป อาการไซนัสอักเสบ ศีรษะได้รับแรงกระแทก ความเครียด หรือแม้แต่อาการเกร็งของกล้ามเนื้อต้นคอและไหล่ ซึ่งพบได้มากในกลุ่มคนวัยทำงาน แต่โดยปกติอาการปวดหัวส่วนใหญ่จะหายไปภายในระยะเวลาอันสั้น และไม่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันมากนัก ทั้งนี้ หากปวดหัวแล้วพบว่ามีอาการแบบ 3 ข้อต่อไปนี้ อาจสงสัยได้ว่ามีความผิดปกติบางอย่างในสมอง และควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุอย่างจริงจัง

ปวดหัวเรื้อรัง คือมีอาการปวดหัวมากกว่า 15 วันต่อเดือน อย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน ซึ่งมักเป็นอาการเบื้องต้นของเนื้องอกในสมองที่เริ่มพัฒนาขนาด คือมีขนาดใหญ่ขึ้นจนทำให้แรงดันในสมองสูงขึ้น และแสดงออกในลักษณะของอาการปวดหัว

อาเจียน โดยเฉพาะการอาเจียนในตอนเช้า ถือเป็นหนึ่งในอาการร่วมสำคัญที่ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีความผิดปกติจากสมอง ที่ไม่ได้เกิดจากความเครียดตามปกติ

ท่าทางการเคลื่อนไหว หรือการสื่อสารผิดปกติ เกิดจากก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นนั้นได้กดทับ หรือเบียดสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบต่างๆ โดยคนไข้จะมีอาการแสดงที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าก้อนเนื้อนั้นเกิดขึ้นในสมองส่วนที่ทำหน้าที่อะไร เช่น บางรายอาจพูดไม่ได้ แขนขาอ่อนแรงหรือชา การทรงตัวผิดปกติ หรือบางรายมาด้วยอาการชัก ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติการชักมาก่อน

ไปต่อยังไงดี...เมื่อเราอาจมีเนื้องอกในสมอง

แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่าเนื้องอกในสมอง (Brain Tumor) เกิดขึ้นเพราะอะไร แต่ทันทีที่มีอาการตามที่กล่าวไว้ในข้างต้น สิ่งสำคัญคือการพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้รู้ว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอะไร และหากมีก้อนเนื้องอกอยู่จริง ก้อนเนื้อนั้นคือเนื้องอกทั่วไป (ไม่ใช่มะเร็ง) หรือเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย (มะเร็ง) การตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดจึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้คนไข้รู้ตัวและรับมือได้เร็วขึ้น ซึ่งแพทย์จะประเมินและวินิจฉัยตามขั้นตอน ดังนี้

ประเมินอาการเบื้องต้น โดยแพทย์จะทำการสอบถามข้อมูล พูดคุย เพื่อสังเกตลักษณะการสื่อสาร ท่าทางการเดิน ทดสอบกำลังของแขนขา และตรวจเส้นประสาทตาว่ามีอาการบวมที่เกิดจากแรงดันในสมองหรือไม่

CT SCAN และ MRI หากแพทย์ประเมินแล้วว่าคนไข้เข้าข่ายมีอาการเนื้องอกในสมอง แพทย์จะทำการยืนยันผลวินิจฉัยด้วยวิธีสแกนสมอง (MRI) ซึ่งจะทำให้มองเห็นถึงตำแหน่ง และขนาดของก้อนเนื้อดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้น ก่อนเข้าสู่กระบวนรักษาต่อไปนั่นเอง

ผ่าตัดรักษาเนื้องอกในสมอง ด้วยเทคนิค Micro Surgical Technique
การตรวจด้วยเครื่องสแกนจะช่วยให้แพทย์มั่นใจได้ว่ามีลักษณะของก้อนเนื้องอกในสมองอยู่จริง และหากเป็นการตรวจสแกนด้วยเครื่อง MRI จะทำให้ทราบถึงตำแหน่งที่อยู่ของก้อนเนื้อนั้นๆ ได้อีกด้วย ภารกิจสำคัญต่อมาคือการเอาก้อนเนื้องอกดังกล่าวออกมาตรวจ เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนว่าก้อนเนื้อนั้นคืออะไร และเข้าสู่วิธีรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

โดยส่วนใหญ่แพทย์มักใช้วิธีผ่าตัดด้วยเทคนิค Micro Surgical Technique ซึ่งเป็นเทคนิคทางการแพทย์ที่ช่วยในการผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือช่วยลดการเสียเลือดระหว่างผ่าตัด

ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงขนาดของก้อนเนื้อ และตำแหน่งของก้อนเนื้องอก ที่อาจไม่ได้อยู่แค่บริเวณส่วนบนเท่านั้น แพทย์จะทำการผ่าตัดด้วยกล้อง Microscope ร่วมกับเทคโนโลยีกล้อง การหาพิกัดตำแหน่งที่แม่นยำ(Navigator) เพื่อช่วยให้ผ่าตัดไปถึงตำแหน่งเป้าหมาย ก่อนจะตัดก้อนเนื้องอกออกด้วยอุปกรณ์ขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เลเซอร์ที่จะเข้ามาช่วยในการผ่าตัด ลดการเสียเลือด และยังทำงานได้ดีกับกล้องผ่าตัดขนาดเล็กที่เรียกว่า Endoscope อีกด้วย

จะเห็นได้ว่า นอกจากการทำหน้าที่รักษาโรคและความเจ็บป่วยให้คนไข้แล้ว สิ่งหนึ่งที่แพทย์พยายามทำมาโดยตลอด คือการเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยให้แก่คนไข้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะการผ่าตัดเนื้องอกในสมองที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอย่างสูง ซึ่งการรักษาที่ดีควรประกอบด้วยความรู้ความชำนาญของแพทย์ที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการรักษาในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในการรักษานั่นเอง

เครดิตแหล่งข้อมูล : รพ.พญาไท


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์