ชัวร์หรอว่าแค่เป็นหวัด ไม่ใช่ “ไซนัสอักเสบ”
ทำความรู้จักไซนัส จะได้รู้ชัดว่าเราป่วยเป็นอะไรกันแน่?
"ไซนัส" แท้จริงแล้วคืออวัยวะหนึ่งในร่างกายคนเรา โดยเป็น "โพรงอากาศในกระดูกใบหน้ารอบโพรงจมูก" ของเรานั่นเอง ซึ่งมีด้วยกัน 4 ชิ้น ได้แก่ Maxillary Sinus หรือไซนัสที่แก้ม Ethmoid Sinus หรือ ไซนัสที่หัวตา Frontal Sinus หรือไซนัสที่หน้าผาก และ Sphenoid Sinus หรือไซนัสที่ฐานสมองส่วนหลัง ดังนั้น โรคไซนัสอักเสบ ไซนัสติดเชื้อ ที่เรียกกันสั้นๆว่า "ไซนัส" นั้น จึงหมายถึงการที่ โพรงอากาศในกระดูกใบหน้ารอบโพรงจมูกติดเชื้อนั่นเอง ซึ่งก็สามารถเกิดขึ้นได้กับไซนัสทั้ง 4 ตำแหน่ง
ไซนัสแตกต่างจากหวัดตรงไหน สังเกตอาการยังไงให้รู้?
ทั้งไซนัสอักเสบและไข้หวัด เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้เหมือนกัน แต่ไข้หวัดนั้น จะเป็นการติดเชื้อที่ "เยื่อบุโพรงจมูก" ส่วนไซนัสคือตัวเชื้อจะลุกลามมากไปกว่านั้น เป็นการติดเชื้อที่ "โพรงอากาศรอบกระดูกใบหน้าหรือว่าโพรงไซนัส" นั่นเอง อยากรู้ว่าเป็นไซนัสอักเสบ สังเกตได้จากอาการเหล่านี้
-มีภาวะคัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้
-น้ำมูกเปลี่ยนสี เป็นสีเขียวหรือเหลือง ไม่ใช่น้ำมูกใส
-มีภาวะหายใจได้กลิ่นลดลง และอาจมีอาการปวดร่วมด้วย
-หายใจแล้วมีเสียงอู้อี้ขึ้นจมูกเยอะๆ
แต่ดูๆแล้วอาการของโรคไซนัสอักเสบในภาพรวมก็มีความคล้ายกันมากกับอาการของไข้หวัด แล้วจะสังเกตอย่างไรดี ถึงจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นไซนัส ไม่ได้เป็นหวัด คำตอบก็คือ ถ้าหากมีอาการตามที่กล่าวมาร่วมกัน 3 อาการขึ้นไป และเป็นติดต่อกัน 3 วันแล้วไม่หาย หรือพบว่ามีอาการแย่ลง เช่น น้ำมูกข้นมากขึ้น คัดจมูกเพิ่มขึ้น ภายใน 5-7 วัน หรือ ถ้ารู้สึกว่าเป็นหวัดต่อเนื่องกัน 10 วันแล้วยังไม่หายล่ะก็ สามารถสันนิษฐานได้เลยว่า เราเป็นไซนัสอักเสบติดเชื้อ ไม่ได้เป็นหวัดธรรมดา และควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ควรตระหนักไว้ก็คือ ไข้หวัดสามารถพัฒนากลายมาเป็นไซนัสได้ ถ้าหากรักษาไม่ถูกวิธี โดยเชื้อจะลุกลามจากโพรงจมูก เข้ามาที่โพรงไซนัส ทำให้เราป่วยเป็นไซนัสอักเสบในที่สุด จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ถึงแม้เป็นหวัดก็ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์ ให้แพทย์ตรวจให้ละเอียดและจ่ายยารักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคจะได้ไม่ลุกลามจนเป็นอันตรายมากขึ้น
รักษาอย่างไร เมื่อป่วยเป็นไซนัสอักเสบ?
การรักษาไซนัสอักเสบ สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความรุนแรงของอาการ แต่โดยทั่วไปจะรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อเป็นเวลา 7 วัน ร่วมกับการให้ยาลดน้ำมูกหรือยาแก้แพ้ ก็สามารถทำให้หายเป็นปกติได้ แต่ในกรณีที่คนไข้มีประวัติเป็นภูมิแพ้ด้วย แพทย์ก็จะพิจารณาให้ใช้ยาสเปรย์พ่นชนิดสเตรอยด์ เพื่อช่วยลดการอักเสบ ลดบวมได้อย่างรวดเร็วควบคู่กันไปกับการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ซึ่งแพทย์จะสอนให้คนไข้ล้างให้เป็น และกลับไปล้างอย่างสม่ำเสมอที่บ้าน
-ก้มหน้าประมาณ 45 องศา หน้าอ่างล้างหน้า
-นำขวดน้ำเกลือใส่เข้าไปในจมูกตรงๆ
-กลั้นหายใจ แล้วบีบขวดน้ำเกลือ ให้น้ำเกลือไหลไปตามจมูก
-ถ้าหากล้างได้อย่างถูกต้อง น้ำเกลือจะไหลมายังจมูกอีกข้างหนึ่ง หรือไหลออกทางปากพร้อมกับน้ำมูก
-ใน 1 วันควรล้างประมาณ 2 ครั้ง เช้าและเย็น โดยปริมาณน้ำเกลือต่อครั้งจะขึ้นอยู่กับน้ำมูกที่ค้างอยู่
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนไข้ที่อาการหนักมากๆ และทำการรักษาด้วยวิธีให้ยาเต็มที่แล้วก็ยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาให้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อแก้ไขการอุดตันของรูระบายไซนัส ให้กลับมาทำงานได้อย่างเป็นปกติ ซึ่งก็จะทำให้หายขาดได้ แต่ไซนัสอักเสบเองก็เหมือนกับไข้หวัด คือสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ถ้าหากดูแลตัวเองไม่ดีพอ
ไซนัสอักเสบ อันตรายแค่ไหนไซนัสอักเสบ ถือว่าเป็นโรคที่มีความอันตรายและรุนแรงมากในระดับหนึ่งเลยทีเดียว หากเราปล่อยทิ้งเอาไว้เป็นระยะเวลานาน ปล่อยให้เป็นเรื้อรัง ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ Ethmoid Sinus หรือ ไซนัสที่หัวตา ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่รุนแรงมากกว่าทุกตำแหน่ง เพราะอาจลุกลามไปที่ดวงตา จนทำให้คนไข้ตาอักเสบ หนังตาบวม ติดเชื้อในดวงตา จนกระทั่งตาบอดได้ในที่สุด ดังนั้น เมื่อสังเกตพบเห็นอาการผิดปกติคล้ายหวัด แต่เป็นนานไม่หายภายใน 3 วัน ก็ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจากไซนัส?
สำหรับวิธีการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคไซนัส ก็จะเป็นแนวทางเดียวกันกับการป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ คือ สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องเดินทางไปยังในที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางการหายใจได้ง่ายๆ อาทิ รถไฟฟ้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว ยิ่งต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ นอกจากนั้นก็ควรล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เวลาไอ จาม ให้ปิดปาก รับประทานอาหารด้วยการใช้ช้อนกลาง และเวลามีสมาชิกในบ้านคนใดคนหนึ่งเป็นหวัด ควรให้นอนแยกห้อง เพราะหากนอนในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศร่วมกัน จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่ายมากขึ้น ในกรณีมีเด็กเล็กในบ้านป่วยเป็นหวัด และไม่สะดวกใส่หน้ากากอนามัย คนอื่นๆ ในบ้านก็สามารถใส่แทนได้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้ โดยหากเป็นหวัดหลายวันไม่หาย สงสัยว่าอาจเป็นไซนัสอักเสบควรรีบไปพบแพทย์ดีกว่า
ไซนัสอักเสบนั้นเป็นโรคที่คล้ายหวัด แต่รุนแรงกว่าหวัดมาก และเป็นโรคที่สามารถพัฒนาจากหวัดธรรมดาๆได้ด้วย หากได้รับการรักษาดูแลที่ไม่ถูกวิธี ทั้งยังเป็นโรคที่สามารถติดต่อถึงกันได้อีก ดังนั้นหากพบเห็นสังเกตอาการตัวเอง หรือคนใกล้ชิด มีความผิดปกติที่คล้ายกับจะเป็นหวัด แต่ไม่หายสักทีล่ะก็ อย่านิ่งนอนใจปล่อยเอาไว้ เพราะถ้าเกิดว่าเป็นไซนัสขึ้นมาเมื่อไร จะไม่มีทางหายได้เอง และมีแต่จะยิ่งทำให้เจ็บป่วยรุนแรงเข้าไปอีก จนอาจทำให้คนใกล้ชิดที่เรารักเสี่ยงอันตรายป่วยกายป่วยใจตามไปด้วย
เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai.com