เคล็ด(ไม่)ลับ การดูแลเท้าในผู้เป็นเบาหวาน


เคล็ด(ไม่)ลับ การดูแลเท้าในผู้เป็นเบาหวาน

ผู้เป็นเบาหวาน ควรให้ความสำคัญกับการดูแลเท้าเป็นพิเศษ เนื่องจากโรคเบาหวานจะส่งผลกระทบทำให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายไม่เป็นไปตามปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเท้า ประสาทความรู้สึกของเท้าจะทำงานได้ไม่ดี โดยเฉพาะความรู้สึกเกี่ยวกับอาการเจ็บปวด การถูกกดทับ หรือการรับรู้อุณหภูมิร้อน-เย็น โดยความการรับรู้ความรู้สึกจะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนท้ายที่สุดอาจไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกบริเวณเท้าได้เลย

ดังนั้นเมื่อเกิดบาดแผลที่เท้าในผู้เป็นเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ก็จะสามารถติดเชื้อโรคจากกลุ่มแบคทีเรียและเชื้อโรคอื่นได้ง่าย ถ้าหากไม่ได้รับรักษาอย่างถูกวิธี การติดเชื้อจะลุกลามมาก ซึ่งสุดท้ายอาจต้องพิการถูกตัดขาได้

เพิ่มความระวัง เพื่อลดความเสี่ยง

อาการข้างเคียงจากโรคเบาหวานจะส่งผลให้ระบบประสาทส่วนปลายที่เท้าเสื่อม หลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน เกิดภาวะแรงกดทับ ผู้เป็นเบาหวานจึงมีโอกาสเกิดแผลง่าย แผลหายยาก และโอกาสติดเชื้อสูง ผู้เป็นเบาหวานจึงควรป้องกันการเกิดบาดแผลที่เท้าได้ โดยการดูแลสุขภาพเท้าอย่างสม่ำเสมอ เลือกรองเท้าที่เหมาะสมและควบคุมเบาหวานอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะถูกตัดขาได้

เมื่อเป็นแผล ต้องดูแลอย่างใส่ใจ

ไม่ว่าจะแผลเล็กแผลใหญ่ ก็อย่าชะล่าใจ ต้องดูแลรักษาความสะอาดบาดแผลอย่างสม่ำเสมอ

*แผลเล็กน้อยเป็นตุ่มพองหรือแผลถลอก ให้หมั่นรักษาความสะอาดบริเวณบาดแผลและรอบๆบาดแผล

*แผลสด ต้องดูแลเป็นพิเศษ ดังนี้

-ทำความสะอาดด้วยน้ำต้มสุกที่ทิ้งไว้จนเย็นและสบู่อ่อนๆ แล้วซับให้แห้ง โดยการเช็ดแผล ให้เช็ดจากแผลวนออกมารอบแผล โดยไม่เช็ดซ้ำที่เดิม

-ทายาฆ่าเชื้อโรคที่ไม่ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อ เช่น น้ำยาเบตาดีน หรือยาปฎิชีวนะที่เป็นครีม หลีกเลี่ยงการใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนและไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์บริเวณแผล

-ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซที่ผ่านการฆ่าเชื้อ

-ตรวจดูแผลทุกวันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ ถ้าแผลไม่ดีขึ้น มีการอักเสบ บวมแดง หรือมีไข้ ควรรีบพบแพทย์

-ขณะที่แผลยังไม่หายดี ควรหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักที่เท้า เพราะการยืนและการเดินจะยิ่งสร้างแรงกดไปที่บาดแผล ทำให้ปากแผลเปิด แผลก็จะยิ่งหายช้า ควรนอนพัก หรือนั่งบนเก้าอี้ รถเข็น หรือใช้ไม้พยุงตัว

-ในกรณีที่ต้องการออกกำลังกาย ก็สามารถทำได้ แต่ต้องเลือกชนิดที่ไม่ต้องลงน้ำหนัก หรือออกกำลังกายด้วยแขนแทน

สำหรับแผลใหญ่ หรือแผลที่อักเสบมาก ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่ระยะแรก เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ลุกลาม

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์