อันตรายมากแค่ไหน เมื่อพบว่าเราไอเป็นเลือด
ไอเป็นเลือด คืออะไร เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?
อาการไอเป็นเลือดนั้น เปรียบได้กับ "ท่อประปารั่ว" ที่ช่างจำเป็นต้องตรวจสอบดูว่าเกิดอาการรั่วที่บริเวณใด เช่นเดียวกันกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ ที่ต้องตรวจสอบดูว่าเป็นเส้นเลือดบริเวณไหน ส่วนบนหรือส่วนล่างของร่างกายที่แตกจนทำให้เกิดเลือดออก ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นส่วนบน คือบริเวณจมูก อาจเป็นอาการข้างเคียงจากโรคไซนัส ภูมิแพ้เรื้อรัง เกิดจากการแคะแกะเกาจนเส้นเลือดฝอยแตก หรือพ่นยาผิดวิธี จนทำให้เกิดเลือดออกในจมูกแล้วไหลลงไปยังบริเวณคอ ทำให้เกิดอาการไอออกมาเป็นเลือด นอกจากนี้ยังอาจเกิดได้ในกรณีที่คนไข้ไอแรงๆ ไอเรื้อรัง จนทำให้เส้นเลือดฝอยที่คอโป่งแตก ซึ่งแพทย์ก็จำเป็นต้องวินิจฉัยดูให้ละเอียดว่า อะไรคือสาเหตุของอาการไอเรื้อรังนั้น เพื่อทำการรักษาอย่างตรงจุด
สำหรับอาการไอเป็นเลือดที่เกิดจากความผิดปกติส่วนล่างของร่างกายนั้น มักเกิดจากความผิดปกติของปอดจนทำให้เกิดเลือดออก ซึ่งแพทย์จะต้องซักประวัติ และตรวจหาคำตอบด้วยการเอ็กซเรย์ หรือส่องกล้องทางเดินหายใจเพิ่มเติม เพื่อดูว่ามีก้อนหรือมีอะไรผิดปกติในเนื้อปอดหรือไม่
ไอเป็นเลือดแบบไหน น่ากังวลใจว่าจะเป็นอันตรายร้ายแรง?
โดยปกติทั่วไปแล้ว คนส่วนใหญ่มักกังวลเมื่อพบว่ามีอาการ "ไอเป็นเลือด" แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการที่เกิดขึ้นนั้น อาจไม่ใช่อาการไอเป็นเลือด หากแต่เป็นอาการ "ไอติดเลือด" หรือ "ไอเสมหะปนเลือด" ซึ่งจะมีความแตกต่างกันอยู่มาก สามารถอธิบายรายละเอียดของอาการไอทั้ง 2 ชนิดได้ ดังต่อไปนี้
1.ไอเป็นเลือด คือ อาการไอเป็น "เลือดสด" มีเลือดออกมาปริมาณมาก โดยหากพบว่าไอแล้วมีเลือดออกมาประมาณครึ่งฝ่ามือขึ้นไป และเป็นเลือดสด กรณีแบบนี้มีความอันตรายสูง ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน
2.ไอเสมหะติดเลือด คือ อาการไอเป็นเสมหะแล้วมีเลือดติดออกมาเพียงเล็กน้อย ซึ่งโดยมากจะเกิดจากการไอแรงจนเส้นเลือดฝอยที่คอแตก อาจไม่มีอันตรายใดแทรกซ้อน แต่หากเป็นบ่อยครั้ง มีเลือดติดออกมามากขึ้น ไม่ใช่ลักษณะจุดเล็กๆ ก็จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงโดยเร็วเช่นกัน
วินิจฉัยหาสาเหตุอย่างไร เมื่อคนไข้มีอาการไอเป็นเลือด?
โดยเบื้องต้น แพทย์จะทำการซักประวัติอาการ ตลอดจนสอบถามว่าคนไข้กำลังรับประทานยาอะไรอยู่หรือไม่ อาทิ ยาละลายลิ่มเลือด เพราะยาบางตัวจะมีผลทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่ายกว่าปกติ หรือหากคนไข้มีภาวะเลือดออกง่ายอยู่แล้ว เช่นเป็นโรคเลือด เกล็ดเลือดต่ำ ก็จะมีโอกาสเลือดออกได้ง่ายเช่นกัน โดยหลังจากการซักประวัติอาการ ประวัติสุขภาพ และประวัติการใช้ยาแล้ว แพทย์จะตรวจร่างกาย และอาจตรวจเอ็กซเรย์ปอด เพื่อหาสาเหตุและทำการวางแผนการรักษาต่อไปตามผลเอ็กซเรย์ที่พบ
การไอเป็นเลือดที่มีลักษณะเป็นเลือดสด อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายที่เป็นอันตราย เช่น วัณโรค มะเร็งปอด หรือมะเร็งในระบบทางเดินหายใจ โรคเส้นเลือดฝอยโป่งพอง หรือที่พบได้บ่อยก็คือโรคหลอดลมโป่งพอง นอกเหนือจากนั้นก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคปอดติดเชื้อต่างๆ ปอดบวม หรือการมีฝีที่ปอด เป็นต้น
ในคนไข้บางราย ก่อนที่จะมีอาการไอเป็นเลือด อาจไม่ได้มีอาการบ่งชี้ใดๆ มาก่อนเลยก็ได้ แต่จู่ๆ ก็เกิดอาการไอเป็นเลือดขึ้นมาเลย ในกรณีแบบนี้อาจบ่งบอกได้ว่า คนไข้สะสมความผิดปกติเอาไว้ในร่างกายมาเป็นระยะเวลานานแล้ว และรอยโรคเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่รอวันแสดงอาการให้เห็น ซึ่งกว่าจะเห็นก็เป็นอาการที่รุนแรงและเป็นอันตรายมากแล้ว ซึ่งถือว่าน่ากลัวมากกว่า ในทางตรงกันข้ามสำหรับคนไข้ที่ไอเรื้อรังมาเรื่อยๆ มีโอกาสที่จะรู้เท่าทันจนสามารถไปพบแพทย์ได้เร็วกว่าและรักษาได้ทัน
อาการไอเป็นเลือดนั้น แม้จะดูมีความรุนแรงและน่ากลัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะป่วยเป็นโรคร้ายแรงเสมอไป เพราะอาจเป็นเพียงแค่การไอรุนแรง ไอผิดวิธีจนทำให้เส้นเลือดฝอยที่คอแตกก็ได้ ดังนั้นอย่าเพิ่งหวั่นวิตกไปก่อน แต่ควรตระหนักว่าเมื่อพบอาการไอเป็นเลือดที่น่าผิดสังเกต ให้เรารีบมาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และรักษาอย่างถูกต้องแม่นยำ ทั้งนี้ การซักประวัติ ตรวจร่างกายของแพทย์นั้น มีความแม่นยำมากกว่า 80 % การมาตรวจร่างกายเป็นประจำ จะสามารถช่วยให้เราปลอดภัยจากโรคร้ายได้มากขึ้น เป็นการป้องกันและคัดกรองความเสี่ยงได้ดี อันจะนำพาเราไปสู่การมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขความสบายใจมากขึ้น