เกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย เวลาที่ปวดหัวไมเกรน?
โรคปวดหัวข้างเดียว หรือไมเกรน (Migraine) เป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังที่สร้างความทุกข์ทรมานและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย บีบีซีจะพาไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นในสมองของคนเราเวลาที่เกิดโรคชนิดนี้
อย่างแรก จะเกิดการหลั่งของสารเคมีในสมองส่วนกลาง ทำให้เกิดปัญหาที่ระบบประสาทที่หนังศีรษะ ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บและปวดศีรษะ ต่อมาจะเกิดคลื่นไมเกรนที่เรียกว่า (cortical spreading depression -CSD) ซึ่งคล้ายกระแสไฟฟ้าที่ถูกส่งไปทั่วสมอง และทำให้เกิดอาการนำของไมเกรนที่เรียกว่า "ออรา" (aura)
อาการทางสายตา อาจทำให้เห็นแสงสว่างหรือดาวระยิบระยับ ตาพร่า ตาลาย หรือแม้แต่สูญเสียการมองเห็นชั่วขณะ
อาการนำทางประสาทความรู้สึก เช่น เกิดอาการคัน ชา ซ่า หรือแสบร้อนตามแขนขา หรือรู้สึกวิงเวียนศีรษะ ตามด้วยอาการคลื่นไส้ หรือทำให้อาเจียนได้
ไมเกรนต่างจากปวดหัวธรรมดาอย่างไร
ข้อมูลจากเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเรื่องนี้ว่า การปวดศีรษะธรรมดามักจะปวดทั่วทั้งศีรษะ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่ไมเกรน มักจะปวดตุบ ๆ เป็นระยะ และมีอาการปวดปานกลางถึงรุนแรงมาก
โดยพบในผู้หญิงบ่อยกว่าผู้ชาย และส่วนมากมักเป็นการปวดหัวข้างเดียว หรือเริ่มปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดทั้งสองข้าง แต่ละครั้งที่ปวดมักจะย้ายข้างไปมาหรือย้ายตำแหน่งได้ แต่บางครั้งก็อาจจะปวดทั้งสองข้างขึ้นมาพร้อมกันตั้งแต่แรก
วิธีรักษา
ได้แก่ การบรรเทาอาการปวดศีรษะ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาเสมอไป แต่ใช้การนวด การกดจุด การประคบเย็น การประคบร้อน หรือการนอนหลับ แต่ในรายที่ไม่ได้ผลหรืออาการปวดรุนแรงนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ยาแก้ปวด
ส่วนการป้องกันไม่ให้เกิด หรือลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดศีรษะนั้น มีอยู่ 2 วิธี คือ
1. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และคลายเครียดอย่างเหมาะสม
2.กินยาป้องกันไมเกรน โดยแพทย์จะแนะนำให้กินยาป้องกันเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะบ่อย เช่น สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้งขึ้นไป หรือมีอาการปวดรุนแรงมากหรือนานต่อเนื่องกันหลายวัน