โรคเก๊าท์ เกิดขึ้นได้อย่างไร อาหารอะไรที่ควรงด
เนื่องจากโรคเก๊าท์เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเพศชาย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่ข้ออย่างฉับพลัน รวมถึงมีอาการข้อแข็งและบวม ซึ่งมักจะเป็นที่นิ้วหัวแม่เท้า ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาการของโรคเก๊าท์ก็จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และอาจเป็นอันตรายต่อข้อต่อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออื่น ๆ ได้
โรคเก๊าท์เกิดจากร่างกายมีกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ และมีการสะสมกรดยูริกเป็นระยะเวลายาวนานหลายปี จึงทำให้กรดยูริกตกตะกอน สะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ถ้าสะสมมากที่ข้อต่อก็จะเกิดอาการข้อต่ออักเสบ และปวด แดง ร้อนบริเวณข้อต่อ ถ้ากรดยูริกสะสมอยู่ตามผิวหนังมาก จะส่งผลให้เกิดปุ่มนูนขึ้นตามผิวหนัง ถ้ากรดยูริกสะสมที่ไตมาก ก็จะเกิดเป็นโรคนิ่วในใตและเกิดอาการไตเสื่อม เป็นต้น
สาเหตุของโรคเก๊าท์
โรคเก๊าท์เกิดจากการมีกรดยูริกในเลือดมากเกินไป (hyperuricemia) ซึ่งสาเหตุของภาวะกรดยูริกในเลือดสูงมีคำอธิบายที่ยังไม่ชัดเจน แต่มีความเชื่อว่าปัจจัยทางด้านพันธุกรรมน่าจะมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว
เมื่อกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น อาจตกผลึกในข้อต่อ ซึ่งจะกระตุ้นกระบวนการในระบบภูมิคุ้มกัน และก่อให้เกิดการอักเสบ รวมถึงอาการปวดและบวมของข้อต่อ
แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของโรคเก๊าท์ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างพบว่าเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของกรดยูริกโดยตรง ได้แก่
- การมีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน
- การกินอาหารที่มีพิวรีน (purine) สูง เช่น เนื้อสัตว์และอาหารทะเล เนื่องจากพิวรีนสามารถเปลี่ยนเป็นกรดยูริกได้ภายในร่างกาย
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- ยาบางชนิดที่อาจเพิ่มระดับของกรดยูริก เช่น แอสไพริน (aspirin) ไนอาซิน (niacin) หรือการใช้ยาขับปัสสาวะ (diuretics)
- ความเจ็บป่วยหรือสภาวะทางการแพทย์บางประการ เช่น การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วหรือโรคความดันโลหิตสูง
กรดยูริกคืออะไร
กรดยูริกเป็นสารที่เกิดจากร่างกายของเรา สามารถสร้างขึ้นได้เองถึง 80% ในร่างกาย ส่วนอีก 20% ที่เหลือจะได้มาจากกินอาหารที่มีสารพิวรีนเข้าไป โดยสารพิวรีนสามารถพบได้ในอาหารจำพวกสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ พืชผักบางชนิด และอาหารทะเลบางอย่าง
ถ้าหากในร่างกายมีกรดยูริกมากเกินไป
ตามปกติแล้วร่างกายจะขับกรดยูริกที่เกินความจำเป็นออกไปได้ทางปัสสาวะ แต่ในร่างกายของบางคนไม่สามารถขับกรดยูริกออกไปได้หมด จึงเกิดกรดยูริกสะสมในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณของกระดูก ผนังหลอดเลือด และไต (ที่เป็นตัวฟอกเลือด+ขับกรดยูริกไปทางปัสสวะ) ดังนั้น การขับกรดยูริกออกไปไม่หมดจนตกตะกอนมาก ๆ จึงกลายเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคเก๊าท์
อาการของโรคเก๊าท์
โรคเก๊าท์ในระยะเริ่มแรก คือมีอาการปวดแดงอย่างเฉียบพลัน โดยในช่วงวันแรกจะเป็นช่วงที่ปวดมากที่สุด และไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า จุดที่จะแสดงอาการก่อนส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ได้แก่ นิ้วโป้งเท้า ข้อเท้า และข้อเข่า หลังจากเวลาผ่านไปในวันที่สองอาการปวดก็จะเบาบางลงและหายปวดใน 5 - 7 วันหลังเกิดอาการ โดยสถิติแล้วพบว่าเพศชายมีโอกาสเป็นโรคเก๊าท์มากกว่าเพศหญิง
อาการที่เด่นชัดของโรคเก๊าท์ คือ โพดากร้า (podagral) ซึ่งจะมีอาการอักเสบของข้อที่นิ้วหัวแม่เท้า ผู้ป่วยจะรู้สึกปวด รวมถึงสังเกตได้ว่าข้อเท้ามีอาการบวมแดงและร้อน อาการปวดมักจะเริ่มต้นในช่วงกลางคืน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง
ผลข้างเคียงจากโรคเกาต์ที่อาจพบได้แก่ การกลายเป็นโรคเก๊าท์เรื้อรัง มีผลต่อภาพลักษณะ (จากปุ่มก้อนของผลึกกรดยูริกตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ) โรคนิ่วในไต (จากการตกผลึกของกรดยูริก) และโรคไตวาย (เนื่องจากผลึกกรดยูริกฉุดกั้นการกรองปัสสาวะ)
อาการและการวินิจฉัยโรคเก๊าท์
การทดสอบและการวินิจฉัยโรคเก๊าท์
เก๊าท์เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากอาการปวดข้อของโรคเก๊าท์มีลักษณะคล้ายกับโรคอื่นหลาย ๆ โรค หากอยู่ดี ๆ เกิดการปวดกำเริบขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่มีสาเหตุ แพทย์มักจะสงสัยว่าเป็นโรคเก๊าท์
การทดสอบโรคเก๊าท์ทำได้โดย
การตรวจน้ำไขข้อ ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการวินิจฉัยโรคเก๊าท์ น้ำไขข้อเป็นสารที่มีลักษณะข้น สีใส อยู่ภายในข้อ อาจมีการฉีดยาชาเข้าสู่บริเวณที่ต้องการก่อนตรวจ หัตถการนี้มักใช้เวลาเพียง 1-2 นาที ซึ่งแพทย์จะแทงเข็มเข้าไปที่ช่องว่างภายในข้อเพื่อดูดน้ำไขข้อบางส่วนออกมา ก่อนจะนำตัวอย่างนั้นไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ จากนั้นนักเทคนิคการแพทย์จะตรวจสอบน้ำไขข้อเพื่อหาสัญญาณของโรค เช่น การตรวจว่ามีระดับกรดยูริกสูงหรือไม่ หรือตรวจว่ามีกรดยูริกตกผลึกอยู่หรือไม่
การตรวจกรดยูริกในเลือด เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคเก๊าท์
วิธีนี้เป็นวิธีที่แพทย์มักแนะนำ เนื่องจากกรดยูริกเป็นสารเคมีที่มักพบได้ในกระแสเลือดจากการย่อยสลายอาหารบางชนิด ผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์โดยส่วนมากมีกรดยูริกในกระแสเลือดมากเกินไป
แม้การตรวจระดับกรดยูริกในเลือดจะเป็นการวินิจฉัยโรคเก๊าท์ที่ดี แต่การที่ไม่พบว่ากรดยูริกสูงก็ไม่ได้ยืนยันว่าปลอดจากโรคเก๊าท์ ในทางกลับกันการที่กรดยูริกสูงก็ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นโรคเก๊าท์เสมอไป
อย่างไรก็ตาม หากตรวจแล้วมีกรดยูริกต่ำ ก็ขอให้ผู้ป่วยสบายใจได้ เนื่องจากโดยส่วนมากแล้วแปลว่าไม่ได้เป็นโรคเก๊าท์
การตรวจกรดยูริกในปัสสาวะ
หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเก๊าท์ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจกรดยูริกในปัสสาวะ การตรวจนี้จะช่วยติดตามการเกิดนิ่วในไต ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเก๊าท์ในผู้ป่วยบางราย
การรักษาและป้องกันโรคเก๊าท์
เป้าหมายของการรักษาโรคเก๊าท์ คือ การบรรเทาอาการปวดให้หายไปอย่างรวดเร็ว ป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ รวมถึงการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความเสียหายของข้อต่อและไต การรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการใช้ยาสามารถป้องกันการกำเริบของโรคเก๊าท์ได้ในอนาคต
การรักษาโรคเก๊าท์ในระยะแรก
ในช่วงแรกที่โรคเก๊าท์แสดงอาการ วิธีรักษาเบื้องต้นคือแพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ และให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองด้วยการ งดกินอาหารที่จะทำให้เกิดกรดยูริกสูงในกระแสเลือด รวมถึงงดการดื่มแอลกอฮอล์ จากนั้นให้ผู้ป่วยดื่มน้ำสะอาดเยอะ ๆ จะช่วยให้ร่างกายสามารถขับกรดยูริกให้ออกมาพร้อมกับปัสสาวะได้มากขึ้น นอกจากนี้การดื่มนมสดก็สามารถช่วยลดกรดยูริกในร่างกายได้ ในกรณีที่รักษาและดูแลตัวเองในเบื้องต้นแล้ว ยังมีอาการกำเริบมากกว่า 2 - 3 ครั้งต่อปี อาจต้องเข้ารักษากับแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับยาลดกรดยูริกเป็นกรณีพิเศษ
การรักษาโรคเก๊าท์แบบเฉียบพลัน
1. พักการใช้ข้อที่มีภาวะอักเสบ
2. ใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการบวม
3. ใช้ยาแก้ปวดในทันทีที่อาการของเก๊าท์กำเริบ ได้แก่ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาโคลชิซีน (colchicine) รวมถึงยาสเตียรอยด์แบบรับประทาน (oral corticosteroids)
อาหารที่คนเป็นโรคเก๊าท์ควรงด
เนื่องจากโรคเก๊าท์เป็นโรคที่เกิดจากการกินอาหาร การใช้ชีวิต ดังนั้นหากจะแก้ไขต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือการหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ได้แก่อาหารต่อไปนี้
เห็ด
เนื้อสัตว์ปีกทุกชนิด
เครื่องในสัตว์ทุกชนิด
ไข่ปลา
ปลาดุก ปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีน
กุ้ง
ผักชะอม ผักกระถิน ผักสะเดา
กะปิ
น้ำต้มกระดูก
ซุปก้อน
ยาที่ใช้รักษาโรคเก๊าท์
มียาหลายชนิดที่สามารถใช้รักษาโรคเก๊าท์เมื่ออาการกำเริบ และส่วนใหญ่เป็นยาแก้อักเสบ ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด บวม และลดการอักเสบ ยาแก้อักเสบชนิดที่ใช้บ่อยในโรคเก๊าท์ ประกอบด้วย Nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs): ยาในกลุ่มนี้บางตัวต้องใช้ใบสั่งยา แต่ที่เหลือสามารถซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป มักใช้สำหรับรักษาโรคเก๊าท์ประกอบด้วย Advil หรือ Motrin (ibuprofen), Aleve (naproxen), Indocin (indomethacin) และ celebrex (celecoxib) Colchicine แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาตัวนี้หากใช้ยา NSAIDs แล้วไม่ได้ผลเท่าที่ควร โดยสามารถใช้รักษาเมื่อมีอาการกำเริบ หรือกินทุกวันเพื่อลดความถี่ของการเกิดอาการกำเริบ ผลข้างเคียงของยาตัวนี้ประกอบด้วยอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และปวดมวนท้อง ส่วน Corticosteroids ยากลุ่มนี้สามารถใช้ได้ทั้งในรูปแบบกินหรือใช้ฉีดเข้าข้อ ตัวอย่างยาที่มักใช้บ่อยในโรคเก๊าท์ประกอบด้วย Deltasone (prednisone), Omnipred หรือ Millipred (prednisolone) และ Medrol หรือ Solu-Medrol (methylprednisolone) ยารักษาโรคเก๊าท์บางตัวสามารถลดระดับกรดยูริกในกระแสเลือดได้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มนี้ในระยะยาวหากโรคเก๊าท์กำเริบ ตัวอย่างยาที่สามารถลดระดับกรดยูริกได้ประกอบด้วย Probalan (probenecid), Cozaar (losartan), Aloprim หรือ Zyloprim (allopurinol), Uloric (febuxostat), Zurampic (lesinurad), Krystexxa (pegloticase)
การดูแลตนเองและการพบแพทย์
กินยาต่าง ๆ ตามที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
ดูแล รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
หลีกเลี่ยงหรือจำกัดอาหารที่มีสารพิวรีนหรือกรดยูริกสูง อาหารที่มีสารพิวรีนหรือกรดยูริกน้อย ได้แก่ ธัญพืชชนิดเต็มเมล็ด ซีเรียล นม (ควรดื่มนมพร่องมันเนยเพื่อลดโอกาสเกิดโรคไขมันในเลือดสูง) ไข่ขาว และปลาน้ำจืด
ดื่นน้ำสะอาดให้ได้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม เพื่อขับกรดยูริกออกจากร่างกาย และช่วยไม่ให้กรดยูริกตกตะกอน เกิดเป็นนิ่วในไต
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ และยาที่เป็นปัจจัยเสี่ยง
ควบคุมน้ำหนักให้ได้ ไม่ให้เป็นโรคอ้วน
เมื่อปวดข้อมาก ให้ประคบเย็นในตำแหน่งที่ปวดร่วมกับกินยาบรรเทาปวด
หลีกเลี่ยงการใช้งานและการลงน้ำหนักข้อที่เกิดโรค
ระมัดระวังการกินยาต่าง ๆ โดยควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรก่อน พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ แย่ลง ผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อมีความกังวลเกี่ยวกับอาการ
การป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
การป้องกันการเกิดภาวะอักเสบของเก๊าท์ในระยะยาว สามารถใช้ยาที่ช่วยลดการสร้างกรดยูริกในร่างกาย เช่น ยาที่ยับยั้งเอนไซม์แซนทีนออกซิเดส (xanthine oxidase inhibitors) หรืออาจใช้ยาที่ช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกาย (uricosuric)
กินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะยาที่ช่วยลดกรดยูริก
ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงลดการบริโภคเนื้อสัตว์และอาหารทะเล
โรคเก๊าท์เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของข้อ อันเนื่องมาจากการตกผลึกของกรดยูริกภายในข้อ โดยหลาย ๆ ปัจจัยสามารถส่งผลเพิ่มระดับกรดยูริกในกระแสเลือดได้ เช่น การกินอาหารทะเลหรือการดื่มแอลกอฮอล์ โดยการรักษาและป้องกันโรคเก๊าท์ที่มีประสิทธิภาพ ควรเน้นย้ำในเรื่องของการใช้ยาอย่างเคร่งครัดร่วมกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยง
10 ข้อที่คุณควรรู้เกี่ยวกับโรคเก๊าท์เทียม (Pseudogout)
โรคเก๊าท์เทียมเป็นโรคที่มักทำให้เกิดความสับสนกับโรคเก๊าท์และโรคข้ออื่น ๆ ดังนั้น การวินิจฉัยโรคที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โรคเก๊าท์เทียมที่ไม่ได้รักษาอาจส่งผลให้เกิดการเสื่อมของข้ออย่างรุนแรง มีการอักเสบเรื้อรังและนำไปสู่ความพิการได้ เราจึงได้สรุป 10 ประเด็นสำคัญของโรคเก๊าท์เทียมที่คุณควรรู้ ดังนี้
1. โรคเก๊าท์เทียมมีความคล้ายคลึงกับโรคเก๊าท์ แต่ทั้งสองโรคนี้เกิดขึ้นจากการสะสมผลึกที่ต่างกัน
โรคเก๊าท์เทียมคือภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่มีผลึก calcium pyrophosphate สะสมภายในข้อและเนื้อเยื่อรอบข้อนั้น ในขณะที่โรคเก๊าท์เกิดจากการสะสมของผลึกยูริกภายในข้อ
2. โรคเก๊าท์เทียมหรือที่เรียกว่า CPPD อาจมีอาการเหมือนโรคข้อเสื่อมและข้ออักเสบรูห์มาติกเช่นเดียวกับโรคเก๊าท์
ผู้ป่วยที่มีการสะสมของผลึก Calcium Pyrophosphate ประมาณ 25% จะเกิดโรคที่เรียกว่าโรคเก๊าท์เทียม ผู้ป่วยโรคเก๊าท์เทียมไม่จำเป็นต้องมีอาการทุกคน แต่ผู้ป่วยประมาณ 5% อาจมีอาการที่คล้ายกับที่เกิดในโรคข้ออักเสบรูห์มาติก และอีกประมาณ 50% เกิดอาการที่คล้ายคลึงกับโรคข้อเสื่อมได้
3. โรคเก๊าท์เทียมมักเกิดขึ้นที่ข้อเดียว โดยเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรง
ถึงแม้ว่าเวลาที่โรคเก๊าท์เทียมกำเริบอาจรุนแรงได้ คล้ายกับโรคเก๊าท์เมื่อมีอาการ แต่ก็มักจะปวดน้อยกว่า โดยมีอาการดังนี้
ปวดได้นานตั้งแต่หลายวันจนถึง 2 สัปดาห์
อาจมีไข้ตามมาได้
มักเกิดขึ้นได้เอง หรืออาจเกิดตามหลังการเจ็บป่วยรุนแรง การผ่าตัด หรือการได้รับอุบัติเหตุ
ทำให้กระดูกอ่อนและข้อต่อถูกทำลายและแย่ลงเรื่อย ๆ หลังจากมีอาการกำเริบได้หลายปี
4. เกือบครึ่งของโรคเก๊าท์เทียมเกิดขึ้นที่ข้อเข่า
โรคเก๊าท์เทียมมักจะเกิดที่เข่า ในขณะที่โรคเก๊าท์มักจะเกิดที่นิ้วโป้งเท้า แต่โรคเก๊าท์เทียมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกข้อ รวมถึงนิ้วโป้งเท้าด้วยเช่นกัน
5. ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคเก๊าท์เทียม แต่ความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่ออายุมากขึ้น
การเกิดผลึกสะสมในข้อที่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์เทียมนี้เกิดขึ้นในประชากรประมาณ 3% ของผู้ที่มีอายุประมาณ 60 ปี โดยสัดส่วนของจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 50% ในผู้ที่มีอายุ 90 ปี และโรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้เท่ากันทั้งผู้ชายและผู้หญิง
6. ผู้ป่วยโรค CPPD บางส่วนมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมาก่อน
นอกจากปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมแล้วนั้น ปัจจัยอื่นที่เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคประกอบด้วย
ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากไป (Hyperparathyroidism)
ภาวะ Hemochromatosis
ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานน้อยไป (Hypothyroidism)
ภาวะ Amyloidosis
ภาวะพร่องแมกนีเซียมในเลือด (Hypomagnesemia)
ภาวะฟอสเฟตต่ำ (Hypophosphatasia)
7. การส่งตรวจที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคเก๊าท์เทียมคือการส่งตรวจน้ำในข้อ
ทำได้โดยการดูดน้ำจากข้อที่มีอาการและนำมาส่องหาผลึกลักษณะรูปแท่งหรือรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ซึ่งจะทำให้สามารถยืนยันการวินิจฉัยโรคได้ นอกจากนั้นหากตรวจพบว่ามีแคลเซียมสะสมที่กระดูกอ่อนและภายในข้อ (Chondrocalcinosis) ภายใต้การมองด้วยรังสีเอกซเรย์ก็สามารถช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้เช่นกัน และอาจพิจารณาส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นโรคข้ออักเสบจากสาเหตุอื่น
8. ยังไม่มีการรักษาโรคเก๊าท์เทียมให้หายขาด แต่มีวิธีการรักษาที่สามารถควบคุมอาการได้
โรคเก๊าท์เทียมสามารถควบคุมได้โดยการใช้ยา โดยแพทย์มักจ่ายยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อควบคุมอาการปวดและการอักเสบเมื่อโรคเก๊าท์เทียมกำเริบ และใช้ Colchicine ร่วมกับ NSAID ปริมาณน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้กำเริบในครั้งหน้า และอาจฉีด cortisone เข้าในข้อที่อักเสบเพื่อควบคุมอาการปวดและการอักเสบได้เช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาอื่นได้ และการผ่าตัดก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาของผู้ป่วยที่มีการทำลายของข้ออย่างรุนแรง
9. เนื่องจากโรคเกาท์เทียมมักเกิดการเข้าใจสับสนกับโรคข้ออักเสบอื่น ๆ ดังนั้นจึงควรเข้ารับการตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ
เนื่องจากลักษณะของโรคเก๊าท์เทียมมีความคล้ายคลึงกับโรคข้ออักเสบชนิดอื่น ดังนั้น จึงควรพบผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อ (Rheumatologist ) เพื่อวินิจฉัย เพราะการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วจะทำให้มีโอกาสในการป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายข้ออย่างรุนแรงได้
10. อาหารไม่มีส่วนที่ทำให้เกิดโรคเกาท์เทียม และการเปลี่ยนอาหารก็ไม่ได้ช่วยควบคุมอาการของโรค
ถึงแม้ว่าผลึกที่มีการสะสมในโรคเก๊าท์เทียมจะมีส่วนประกอบของแคลเซียม แต่การกินอาหารที่มีแคลเซียมจำนวนมากก็ไม่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นให้เกิดโรคเก๊าท์เทียม
คำถามจากผู้ป่วยท่านอื่นเกี่ยวกับโรคเก๊าท์
วิธีการดูแลตัวเองที่ถูกต้องของคนที่ป่วยเป็นโรคเก๊าท์ต้องทำอย่างไร
คำตอบ: โรคเก๊าท์เป็นโรคของความผิดปกติของกรดยูริค เกิดผลึกยูริกสะสมอยู่ภายในและภายนอกข้อ ทำให้เกิดการอักเสบของข้อชนิดเป็น ๆ หาย ๆ โรคนี้พบในอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป ข้อที่พบว่าเกิดโรคบ่อย คือ ข้อนิ้วหัวแม่มือและหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อนิ้วมือ และข้อมือ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่พบว่าเนื่องจากมีกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งกรดยูริกในร่างกายได้มา 2 ทาง คือ จากอาหาร ได้แก่ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ปลาซาดีน ขนมปังหวาน ปู กุ้ง หอย ดอกกะหล่ำ เห็ด และผักโขม เป็นต้น และจากร่างกายสร้างขึ้นมาเอง การรักษาคือกินยาเพื่อต้านการอักเสบและป้องกันการอักเสบของข้อ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทเครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ปลาซาดีน ขนมปังหวาน ปู กุ้ง หอย ดอกกะหล่ำ เห็ด หน่อไม้ และผักโขม เป็นต้น ควรควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนจนเกินไป ต้องระวังการขาดสารอาหารและพลังงานพวกคาร์โบไฮเดรต งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพระจะทำให้การขับกรดยูริกน้อยลง ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อย 2-3 ลิตร/วัน หรือประมาณ 8-10 แก้ว จะช่วยขับกรดยูริกและป้องกันการเกิดนิ่วในไต ควรระวังเรื่องอุบัติเหตุที่จะเกิดกับข้อ ควรเข้าใจว่าโรคเก๊าท์เป็นโรคเรื้อรัง แต่สามารถควบคุมได้ ถ้ากินยาและปฏิบัติตนได้ถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความพิการของข้อ และสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้ - ตอบโดย วิภา สุวรรณชีวะศิริ (พญ.)
คำตอบ 2: หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ อาหารทะเล รวมถึงงดดื่มสุรา - ตอบโดย กิตติศัพท์ สินน้อย (นพ.)
โรคเก๊าท์พอมีทางรักษาหายขาดมั้ยคะ
คำตอบ: ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่สามารถทำให้โรคสลบได้ เช่น การคุมอาหาร การกินยา - ตอบโดย กิตติศัพท์ สินน้อย (นพ.)
อาการปวดเข่าแบบเวลาเดิน หรือนั่งพับเพียบแล้วเจ็บจี๊ด ๆ เหมือนกระดูกจะลั่นนี่เป็นอาการของโรคเก๊าท์หรือไม่ เป็นมานานเกือบปี ไม่กล้าไปตรวจเลย หาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่าอาการใกล้เคียงมาก
คำตอบ: จากอาการที่ผู้ป่วยเล่ามา ลักษณะคล้ายกับโรคเข่าเสื่อมมากกว่า โรคเข่าเสื่อมเกิดจากการเสื่อมของกระดูกบริเวณข้อต่อ ทำให้ผิวข้อต่อขรุขระ เวลาเดินจึงรู้สึกปวด ร่างกายจึงสร้างกระดูกข้อมาใหม่เกิดเป็นกระดูกงอก ทำให้เวลาเดินจะรู้สึกขัดๆปวดๆ หรือมีเสียงดังลั่นในเข่า มักจะมีอาการปวดตื้อหรือตุ๊บ ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเริ่มขยับใช้งานข้อ โดยเฉพาะข้อที่ต้องรับน้ำหนักตัว แต่ในที่สุดในระยะท้าย ๆ ของการดำเนินโรค อาการปวดจะคงอยู่แม้ในขณะพัก อาจมีข้อบวมเป็นพัก ๆ รู้สึกว่ากล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรงหรือมีอาการเข่าทรุดหรือเข่าผิดรูปได้ แนะนำให้ไปตรวจกับแพทย์ศัลยกรรมกระดูก- ตอบโดย Witchuda Onmee (พญ.)
อยากทราบว่าผู้ป่วยโรคเก๊าท์ซื้อยาจากร้านขายยามากินเอง โดยที่ไม่ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเลย เมื่อถึงเวลาที่โรคมีความรุนแรงขึ้น จะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร
คำตอบ: ถ้าคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเก๊าท์แล้วซื้อยากินเองจะมีความเสี่ยงมาก เนื่องจากจะไม่ได้รับการตรวจติดตามอาการ เช่น ระดับกรดยูริกในเลือด ข้ออักเสบที่กำเริบหลาย ๆ ครั้ง จะทำให้มีการเสื่อมของข้อตามมาได้ในที่สุด - ตอบโดย กิตติศัพท์ สินน้อย (นพ.)
อาการปวดบริเวณข้อที่นิ้วเท้าเป็นอาการเริ่มต้นของโรคเก๊าท์ใช่ไหม
คำตอบ: โรคเก๊าต์มีอาการปวดบริเวณข้อที่เท้าได้ เป็นอาการที่พบบ่อย แต่จะเป็นอาการปวดมาก มีบวม แดง ร้อนบริเวณข้อที่เป็นเก๊าท์ แต่อาการปวดบริเวณที่ข้อนิ้วเท้าไม่ได้บ่งบอกแน่ชัดว่าเป็นเก๊าท์ ที่พบได้บ่อยกว่าคืออาการปวดจากข้อเสื่อมหรือมีการปวดจากการใส่รองเท้าไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดมากตลอด กินยาแก้ปวดไม่หายให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสม - ตอบโดย Rattapon Amampai (Dr.)
เจ็บที่ข้อเท้า เป็นเพราะเส้นเอ็นอักเสบหรือโรคเก๊าท์คะ
คำตอบ: ถ้ามีอาการปวด บวม แดง ร้อนรอบ ๆ ข้อ อาจเกิดจากข้ออักเสบ ซึ่งมีได้หลายสาเหตุ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง - ตอบโดย กิตติศัพท์ สินน้อย (นพ.)
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!