นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคมะเร็งในภาพรวม ปัจจุบันพบจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 130,000 รายต่อปี โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่จากข้อมูลและสถานการณ์พบว่า อัตราการเกิดโรคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทั้งสองเพศรวมถึงอัตราการเสียชีวิต
โรคมะเร็งยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของคนไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 และยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 100 คนต่อประชากร 100,000 คน อุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย ในแต่ละเพศ สามารถแบ่งออกได้เป็นเพศชายและเพศหญิง โดยจำแนกได้ดังนี้
5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชาย
1. มะเร็งตับและท่อน้ำดี
2. มะเร็งปอด
3. มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
4. มะเร็งต่อมลูกหมาก
5. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในเพศหญิง
1. มะเร็งเต้านม
2. มะเร็งปากมดลูก
3. มะเร็งตับ
4. มะเร็งปอด
5. มะเร็งลำไส้ใหญ่
แต่สาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นอันดับที่หนึ่งของทั้ง 2 เพศกลับพบว่า คือ โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี ถัดมาคือ โรคมะเร็งปอด สาเหตุเป็นเพราะทั้ง 2 มะเร็ง มีการพยากรณ์โรค จึงทำให้ทั้งมะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอดเป็นสาเหตุเสียชีวิตเป็นลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ และขณะที่มะเร็งชนิดอื่นๆ การพยากรณ์โรคจะค่อนข้างดีกว่าและหากรู้เร็ว ก็สามารถให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง มี3 ปัจจัยหลัก คือ
1.กรรมพันธุ์ เป็นสาเหตุเพียง 5-10% ของปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด
2.พฤติกรรม ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
3.สิ่งแวดล้อม ที่ประกอบไปด้วยมลภาวะต่างๆ
โดยทั้ง 3 ปัจจัยนี้ ในเรื่องของกรรมพันธุ์ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่ไม่ควรวิตกกังวลมากนัก เพราะมีเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงค่อนข้างน้อยเพียง 10% แต่ถ้าเป็นเรื่องของพฤติกรรมเหล่านี้ ถือว่ามีความเสี่ยงมาก และสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะมีพฤติกรรมมากมาย ที่ทำให้เราก้าวขาเข้าสู่ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง
โดยอาจใช้วิธีการยึดหลัก '5 ทำ 5 ไม่' เพื่อห่างไกลโรคมะเร็ง ซึ่งถึงแม้จะเป็นเพียงแค่คำแนะนำเบื้องต้น รวมถึงการดูแลแบบองค์รวม เพราะจริงๆ แล้ว สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งยังมีเหตุผลอื่นๆ ประกอบอีกมากมาย
5 ทำ พฤติกรรมที่ควรทำเพื่อห่างไกลมะเร็งคือ
1.ออกกำลังกายเป็นนิจ
2.ทำจิตแจ่มใส
3.กินผักผลไม้
4.กินอาหารหลากหลาย
5.ตรวจร่างกายเป็นประจำ
ส่วน 5 ไม่ พฤติกรรมที่ไม่ควรทำเพื่อห่างไกลมะเร็ง
1.ไม่สูบบุหรี่
2.ไม่มีเพศสัมพันธ์มั่ว
3.ไม่มัวเมาสุรา
4.ไม่ตากแดดจ้า
5.ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ควรต้องระวังเพิ่ม เช่น การรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูป อาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม ไม่รับประทานอาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เนื่องจากจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซีได้ และอาจกลายเป็นมะเร็งตับได้ในอนาคต หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจให้รีบไปพบแพทย์ เพราะการดูแลตัวเองเป็นสิ่งจำเป็น การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงสร้างพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันที่ดี จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งได้ร้อยละ 40