สัญญาณเตือนอาการปวดท้องประจำเดือนในวัยรุ่น


สัญญาณเตือนอาการปวดท้องประจำเดือนในวัยรุ่น


สัญญาณเตือนอาการปวดท้องประจำเดือนในวัยรุ่น

 
   อาการปวดท้องน้อยช่วงมีประจำเดือน
เป็นอาการทางนรีเวชที่พบได้บ่อยในวัยรุ่น วัยเรียนและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น พบว่าอุบัติการณ์ร้อยละ 41 ถึง ร้อยละ 91.5 ของวัยรุ่นเคยมีประวัติปวดท้องประจำเดือน สามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ ไม่มีสาเหตุหรือพยาธิสภาพ ( ปฐมภูมิ ) ซึ่งมักจะพบภายหลังจากมีประจำเดือนครั้งแรก 6-12 เดือน เกิดจากสารเคมี prostaglandin ที่หลั่งออกมาช่วงมีประจำเดือน อาจจะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปัญหาการนอนหลับร่วมด้วย และมักจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแก้ปวด กลุ่ม NSAIDS เช่น mefenamic acid หรือ ฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด หรือ โปรเจสติน อีกประเภท คือ มีพยาธิสภาพหรือโรคที่ทำให้มีอาการปวดประจำเดือน (ทุติยภูมิ ) มักจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแก้ปวด หรือ ฮอร์โมน หลังจากการรักษาไปแล้ว 3-6 เดือน หรือมีอาการปวดที่เป็นลักษณะเฉพาะ และอาจมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรค โรคที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุสำคัญคือ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งพบได้ร้อยละ 70 ในรายที่ได้รับการยืนยันด้วยผลชิ้นเนื้อจากการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อหาสาเหตุปวดประจำเดือน หรืออาการปวดไม่ดีขึ้นหลังรักษาด้วยยาฮอร์โมน สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ก้อนเนื้องอกดมลูก ถุงน้ำรังไข่ อุ้งเชิงกรานอักเสบเรื้อรังโรคที่เกี่ยวกับกายวิภาคของมดลูกผิดปกติตั้งแต่กำเนิดชนิดที่มีการอุดตันของประจำเดือน ซึ่งมักจะตรวจพบสาเหตุช้าประมาณ 5-7 ปี หลังจากมีอาการปวดประจำเดือนครั้งแรก โดยอาจจะเชื่อว่าอาการปวดประจำเดือนจะดีขึ้นเอง หรือ ยังไม่ได้มีความตระหนักถึงโรคที่เป็นสาเหตุ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การตระหนักรู้ การค้นหาโรค การรักษาตรงโรค และรักษาต่อเนื่องก่อนที่จะมีอาการรุนแรงและมีผลกระทบต่อทั้งสุขภาพ การเจริญพันธุ์ในอนาคต คุณภาพชีวิต รวมถึงการเรียนและการทำงาน พบว่าร้อยละ12 ของผู้ป่วย จะมีอาการปวดรุนแรงที่ทำให้ไม่สามารถไปเรียนหรือทำงานได้ในช่วงมีประจำเดือน

การค้นหาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก จะเริ่มจากการซักประวัติ ลักษณะการปวดท้อง เช่น ปวดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกรอบเดือน หรือมีการใช้ยาแก้ปวดเพิ่มขึ้น มีลักษณะปวดร้าวไปด้านหลัง ก้นกบ ขาทั้งสองข้างหรือปวดหน่วงทั้งอุ้งเชิงกราน อาจมีอาการร่วม เช่น ระบบขับถ่ายที่ลำบากมากขึ้นในช่วงมีประจำเดือน ประจำเดือนผิดปกติ เช่น ปริมาณมากขึ้น มีลิ่มเลือดปน มีอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือปวดท้องน้อยเรื้อรังหลังประจำเดือนหยุดแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เช่น ประวัติในครอบครัวพบว่า ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ 7 ถึง10 เท่า ถ้าแม่ พี่สาวหรือน้องสาวเป็นโรคนี้ และมีความสัมพันธ์ระดับยีน การมีรอบประจำเดือนสั้นกว่าปกติ มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 14 ปี ประจำเดือนมาก โรคอ้วน มีอาการปวดประจำเดือนเร็วหลังจากประจำเดือนครั้งแรก หรือการมีลักษณะกายวิภาคของมดลูกผิดปกติตั้งแต่กำเนิดชนิดที่มีการอุดตันของประจำเดือน

การตรวจภายในและตรวจอัลตราซาวด์อุ้งเชิงกรานผ่านทางช่องคลอด เป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหาโรคในรายที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ อาจเลือกเป็นการตรวจอัลตราซาวด์ทางหน้าท้องหรือทวารหนักเพื่อเลี่ยงการตรวจภายใน ลักษณะจากอัลตราซาวด์อาจพบมดลูกขนาดใหญ่ขึ้น ถุงน้ำรังไข่ หรืออาจจะพบสาเหตุอื่นๆ ซึ่งถ้าพบสาเหตุจะให้การรักษาตามโรคนั้นๆ แต่ถ้าไม่พบสาเหตุอาจต้องพิจารณาผ่าตัดส่องกล้องเพื่อค้นหาสาเหตุโรค ซึ่งข้อดีคือการได้ชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา และอาจได้ทำการรักษาโดยการผ่าตัดถุงน้ำรังไข่หรือ เลาะพังผืดในอุ้งเชิงกราน หรือในรายที่ยังไม่เลือกการผ่าตัดส่องกล้อง อาจจะให้เป็นการรักษาครอบคลุมภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (empirical treatment) ไปก่อน การเลือกการรักษาขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ผู้ปกครองและแพทย์ผู้รักษา

การรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ จุดประสงค์หลักคือการลดอาการปวด การยับยั้งรอยโรคไม่ให้ขยายเพิ่มขึ้นซึ่งคือการยับยั้งหรือลดรอบประจำเดือนและการคงไว้การเจริญพันธุ์ โดยทั่วไปจะไม่มีทางเลือกการรักษาที่ดีที่สุด แต่จะขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคนโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น การต้องการคุมกำเนิด ความต้องการมีบุตร ข้อห้ามในการใช้ยา และผลข้างเคียงของยา ประวัติการใช้ยามาก่อน เป็นสำคัญ

อาการปวดประจำเดือนในวัยรุ่นเป็นปัญหาพบได้บ่อย โดยการรักษาอาจเริ่มต้นด้วยยาแก้ปวด และฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนได้อย่างปลอดภัย แต่ถ้าพบว่าหลังรักษาแล้วอาการปวดไม่ดีขึ้นในระยะเวลา 3 ถึง 6 เดือนหรือมีอาการปวดที่มีลักษณะเฉพาะและมีปัจจัยเสี่ยงในการมีภาวะเยื่อบุโพรงเจริญผิดที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่ควรได้รับการตรวจโดยสูตินรีแพทย์เพื่อทำการซักประวัติตรวจภายในและทำอัลตราซาวด์อุ้งเชิงกรานเพื่อค้นหาสาเหตุและรักษาต่อเนื่องการรักษาจะช่วยลดอาการปวดเพิ่มคุณภาพชีวิต และเพิ่มโอกาสการกลับไปใช้ชีวิตปกติในการเรียนหรือการทำงานได้

เครดิตแหล่งข้อมูล : paolohospital


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์