รู้ทันมะเร็งเต้านม ภัยร้ายที่รักษาหายได้ พบอันดับ1มะเร็งหญิงไทย
หน้าแรกTeeNee รวมเรื่องสุขภาพดีๆ สุขภาพผู้หญิง รู้ทันมะเร็งเต้านม ภัยร้ายที่รักษาหายได้ พบอันดับ1มะเร็งหญิงไทย
จากกรณีการจากไปของพริตตี้สาวคนดัง นุ๊กซี่ อัญพัชญ์ วัฒนาตันติรัตน์ แฟนสาวของร็อกเกอร์รุ่นใหญ่ ปู แบล็กเฮด เมื่อค่ำคื่น 26 มี.ค. ที่ผานมา หลังป่วยโรคมะเร็งเต้านม
เกี่ยวกับเรื่องนี้ล่าสุดเพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ได้ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ มะเร็งเต้านม' ไว้ดังนี้
‘มะเร็งเต้านม' พบมากอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย ปี 63 พบป่วยใหม่ 18,000 คนต่อปี หรือ 49 คนต่อวัน และเสียชีวิต 13 คนต่อวัน ส่วนทั่วโลกเสียชีวิต 685,000 คนต่อปี
กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชี้ ‘มะเร็งเต้านม' ภัยร้ายของผู้หญิง พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก และพบมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย
แนะหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และสังเกตความผิดปกติ เช่น ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นแผล และอาจมีน้ำเหลือง หรือของเหลวสีคล้ายเลือด ไหลออกมา หรือเป็นผื่นบริเวณหัวนม หากพบแพทย์ในระยะแรกสามารถรักษาหายขาดได้
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ภัยของ ‘มะเร็งเต้านม' ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วย ‘มะเร็งเต้านม' รายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.3 ล้านคน เสียชีวิตราว 685,000 คนต่อปี
สำหรับประเทศไทย ‘มะเร็งเต้านม' เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย จากข้อมูลในปี พ.ศ.2563 พบว่ามีผู้หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 18,000 คนต่อปี หรือคิดเป็น 49 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม ราว 4,800 คน หรือคิดเป็น 13 คนต่อวัน ซึ่งแนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2566 จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 22,000 คนต่อปี
สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้มากขึ้น จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย และดื่มสุรา รวมถึงบางปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม และอายุที่มากขึ้น เป็นต้น
ด้านแพทย์หญิงชญานุตม์ รัตตดิลก ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมเต้านม สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ‘มะเร็งเต้านม' เกิดจากเนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติ ส่วนใดส่วนหนึ่งภายในเต้านม แล้วเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็ง อาจลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง และแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้
‘มะเร็งเต้านม' สามารถพบทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่พบในเพศชายในอัตราน้อยมาก ผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้นจะมีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม , มะเร็งรังไข่
ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการ และมักมาพบแพทย์ด้วยการคลำพบก้อนเนื้อในเต้านม หรือบริเวณรักแร้
อาการอื่น ๆ อาจสังเกตได้จากขนาด หรือรูปร่างของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นแผล และอาจมีน้ำเหลืองหรือของเหลวสีคล้ายเลือด ไหลออกมา หรือเป็นผื่นบริเวณหัวนม
การรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี การรักษาด้วยเคมีบำบัด การรักษาด้วยยาแบบมุ่งเป้า และฮอร์โมน หรือแพทย์อาจใช้หลายวิธีร่วมกันในการรักษา ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทีมแพทย์และระยะของโรค สุขภาพและความต้องการของผู้ป่วย
แม้ว่ามะเร็งเต้านมจะเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน แต่ก็เป็นมะเร็งที่มีโอกาสรักษาหายขาด หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เราสามารถตรวจคัดกรองเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน เข้ารับการตรวจจากแพทย์หรือพยาบาลเป็นครั้งคราว ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจอัลตร้าซาวน์ร่วมกับเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม