น้ำหนักเยอะ ใช้เข่าผิดวิธี ระวังข้อเข่าเสื่อม
ใครจะคิดว่า น้ำหนักตัวมาก ใช้ข้อเข่ามาก ด้วยท่าทางที่ผิดวิธี จะเป็นที่มาของการเกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าปกติได้ เพราะเชื่อเถอะว่า คนโดยส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าข้อเข่าเสื่อมมีที่มาจากอายุที่มากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้น เมื่อเรารู้แล้วว่า ข้อเข่าเสื่อมเกิดได้จากหลายปัจจัย คงถึงเวลาแล้วที่จะหันมาดูแลข้อเข่าของตนเอง และควรจะทำเช่นไรล่ะ จึงจะช่วยลดโอกาสการเกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อมได้บ้าง? แล้วอาการแบบใดถึงจะเรียกว่ามีปัญหาและต้องไปพบแพทย์? ถ้าเป็นแล้วจะรักษาอย่างไร? ไปทำความเข้าใจกันแบบเอ็กคลูซีฟกับศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช แพทย์ที่ปรึกษาศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ โรงพยาบาลพญาไท 3 พร้อมกันเลย
ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคของผู้สูงอายุเท่านั้นจริงหรือ
ข้อเข่าเสื่อม (Primary OA knee) ที่ผ่านมามักพบโรคนี้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งมีที่มาจากความเสื่อมตามวัย แต่ปัจจุบันสามารถพบได้ในคนอายุน้อยขึ้น เช่น พบในวัยกลางคน ซึ่งมีที่มาจากหลายปัจจัย เช่น น้ำหนักตัวมาก การใช้ข้อเข่ามากเกินไป หรือใช้ผิดท่า ผิดวิธี นั่นจึงเป็นที่มาของข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าปกติ
โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เกิดจากความเสื่อมกระดูกอ่อนของผิวข้อเข่า พอไม่มีผิวกระดูกอ่อนมาห่อหุ้ม เนื้อกระดูกที่มาชนกันขณะรับน้ำหนักจึงทำให้เกิดอาการปวดเข่า เกิดได้จากทั้งแบบที่ทราบสาเหตุ (Secondary Knee Osteoarthritis) และไม่ทราบสาเหตุ (Primary Knee Osteoarthritis)
ความเสื่อมแบบที่ไม่ทราบสาเหตุ มาจากการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัย เช่น
อายุ:อายุมากขึ้นโดยเฉลี่ยอายุประมาณ 40 ปี ขึ้นไป จะเริ่มมีข้อเสื่อม อายุ 55 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีอาการปวดเข่า เข่าเสื่อม และอายุ 60 ปี จะเป็นข้อเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ 40
เพศ :เพศหญิงจะมีโอกาสข้อเข่าเสื่อมได้เร็วกว่าเพศชาย
กรรมพันธุ์ :คนไข้ที่มีคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม มีโอกาสที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงในลักษณะของการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
น้ำหนักตัวที่เกิน :จะยิ่งเพิ่มโอกาสการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม เพราะจะมีการลงน้ำหนักที่เข่ามาก
การใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก:การใช้หัวเข่าผิดท่า หรือใช้อยู่ในท่าที่ต้องใช้ข้อเข่าเป็นเวลานาน อาทิ การยืนนานๆ ยกของหนัก ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ นั่งพับเพียบ หรือนั่งขัดสมาธิ เป็นต้น
ปัญหาจากข้อ : ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง
ความเสื่อมที่ทราบสาเหตุ (Secondary Knee Osteoarthritis) : โรคบางชนิด เช่น เก๊าท์ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้อเข่าติดเชื้อ ข้ออักเสบชนิดต่างๆ เคยเกิดอุบัติเหตุที่เกิดแรงกระแทก โดยเฉพาะในผู้ที่เกิดอุบัติเหตุที่ข้อ เส้นเอ็น
...เห็นไหมล่ะครับ ว่าข้อเข่าเสื่อมไม่ใช่ปัญหาของผู้สูงอายุเท่านั้น...
สัญญาณหรืออาการที่บอกว่าคุณกำลังมีปัญหาข้อเข่าเสื่อม
ข้อเข่าเสื่อมมักจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยมี 4 ระดับ
ระดับที่ 1 ยังคงทำงานทุกอย่างได้ตามปกติ
ระดับที่ 2 ทำงานหนักไม่ได้
ระดับที่ 3 ทำกิจวัตรประจำวันได้
ระดับที่ 4 เดินไม่ไหวแล้ว จากทั้ง เราจะเห็นว่าระยะที่ 1 ยังใช้ชีวิตได้ปกติ นั่นจึงเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดการละเลยข้อเข่า
ดังนั้น เรามาดูกันว่ามีข้อสังเกตง่าย ๆ อะไรบ้างที่จะเป็นตัวบอกว่าคุณต้องใส่ใจดูแล หรือรับการรักษาข้อเข้าได้แล้ว
* ปวดเข่า มีอาการปวดเข่าบ่อยเมื่อเคลื่อนไหว อย่างการเดินขึ้นหรือลงบันได นั่งพับเพียบ และอาการดีขึ้นเมื่อหยุดพักจะลดลงหลังจากการพัก ซึ่งอาการอาจจะเป็นๆ หายๆ แต่เป็นติดต่อกันมากกว่า 6 เดือน
* ข้อเข่าติด หรือฝืด มักพบหลังจากตื่นนอน หรือหลังจากที่ร่างกายหยุดเคลื่อนไหวระยะหนึ่ง ซึ่งจะรู้สึกว่าข้อเข่าฝืดตึง เข่าติด เคลื่อนไหวลำบากซักพัก และจะค่อยๆ ดีขึ้น
* มีเสียงในข้อเข่า เมื่อข้อเข่าเริ่มเสื่อมจะมีเสียงจากในข้อเข่า ขณะเคลื่อนไหวอย่างการเหยียด หรืองอเข่า เป็นต้น
* เสียวหัวเข่า บวม ร้อน กดเจ็บ เวลาเดิน เคลื่อนไวรู้สึกเสียวในข้อเข่า บางคนยังพบว่าเข่ามีอาการบวม เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเข่าอุ่น รู้สึกเจ็บมากขึ้นเมื่อกดตรงข้อเข่า
* ข้อเข่าโก่งงอ ต้นขาลีบ ข้อเข่าผิดรูป ลักษณะเหล่านี้คือจุดสังเกตว่ามีความเสื่อมที่ชัดเจน อาจมีการโก่งงอด้านนอกหรือโก่งด้านใน ต้นขาลีบบิดเบี้ยวผิดรูป ทำให้ขาสั้นลง จึงมีอาการปวดเวลาเดินหรือขยับ
การสังเกตอาการข้อเข่าเสื่อมของตนเอง เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่จะสามารถดูแลใส่ใจและรับการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพราะหากมีความเสื่อมในระดับที่ 1 นั่นหมายความว่าคุณสามารถดูแลตัวเองด้วยการปรับพฤติกรรมได้ โดยใช้ท่าทางการยืน เดิน นั่งให้ถูกสุขลักษณะ หากอยู่ในระยะที่ 2-4 ควรพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ไม่เพียงจุดสังเกตข้างต้นที่บอกว่าคุณต้องดูแลข้อเข่า แต่ยังมีลักษณะการปวดบางอย่างที่เป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณต้องไปพบแพทย์ได้แล้วนะ...นั่นก็คือ เมื่อปวดเข่ารุนแรง แม้จะอยู่เฉยๆ ปวดหัวเข่าและมีอาการบวมช้ำ เป็นสัญญาณว่ามีการอักเสบรุนแรง ปวดร้าวลงขา งอเข่าได้ไมสุด
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมทำได้หลายวิธี ได้แก่
1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและไม่ใช้ยา เช่น การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย การใช้ข้ออย่างถูกต้อง
2.กายภาพบำบัด เช่น การทำอัลตราซาวนด์ การใช้เลเซอร์รักษา
3.การใช้ยา มีทั้งแบบรับประทาน หรือแบบฉีด
4.การรักษาโดยการผ่าตัด มีหลายวิธี ดังนี้
การผ่าตัดปลี่ยนข้อเข่า (Arthroplasty)
การตัดเปลี่ยนแนวกระดูก (Osteotomy)
การผ่าตัดรักษาเป็นแนวทางที่แพทย์จะเลือกใช้เมื่อการรักษาด้วยวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำกายภาพบำบัด และรักษาด้วยยาแต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด แพทย์จึงจะประเมินและตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อพิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมร่วมกับคนไข้ เพราะทุกการรักษามุ่งหวังให้คนไข้หายจากอาการปวด สามารถกลับมาเดิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกครั้ง
เครดิตแหล่งข้อมูล :phyathai3hospital