“โรคออฟฟิศซินโดรม” เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในคนวัยทำงานออฟฟิศ ที่สภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานตลอดเวลา ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตาม
พญ.สมิตดา สังขะโพธิ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู กล่าวในการเสวนา หัวข้อ “รอบรู้เรื่องปวด…ภัยเงียบของผู้หญิง” ถึงแนวทาง การรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมว่ามี 2 แนวทาง หนึ่ง คือ การรักษาที่สาเหตุ สามารถทำได้ทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด สอง คือ การรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การกินหรือฉีดยา ตลอดจนการบรรเทาอาการการปวดเมื่อยโดยการนวดผ่อนคลาย หรือการยืดหยุ่นร่างกายอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยเพิ่มสมรรถนะและความยืดหยุ่น รวมถึงผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เช่น คอ ไหล่ สะบัก หลัง และขา เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้เหมาะสมในขณะทำงาน อาทิ ปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะเวลาทำงานให้เหมาะสม หากใช้คอมพิวเตอร์กึ่งกลางของจอควรอยู่ในระดับสายตา การพิมพ์งานแป้นคีย์บอร์ดควรอยู่ในระดับข้อศอก ข้อมือ ใช้เมาส์โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน และสามารถเคลื่อนไหวได้แบบไม่จำกัดพื้นที่ ขณะนั่งทำงานควรนั่งหลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้ กะพริบตาบ่อยๆ พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 10 นาที เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขนทุก 1 ชั่วโมง กินอาหารให้ตรงเวลาและครบ 5 หมู่ และหากพบว่าตัวเองมีอาการปวดที่เรื้อรังนานกว่า 3 เดือน ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ