กระทรวงสาธารณสุข ประกาศ "12โรคติดต่ออันตราย" พร้อมอาการสําคัญ ปี2559
ราชกิจจานุเบกษา หน้า ๓ เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๑๒๘ ง ๓ มิถุนายน ๒๕๕๙ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข
เรื่อง ชื่อและอาการสําคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. ๒๕๕๙
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๖ (๑) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคําแนะนําของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้โรคติดต่อดังต่อไปนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยมีชื่อและอาการสําคัญ ดังนี้
(๑) กาฬโรค (Plague) แบ่งได้เป็น ๓ ประเภท ดังนี้
ประเภทที่หนึ่ง กาฬโรคต่อมน้ําเหลือง (Bubonic plague) มีอาการไข้สูง หนาวสั่น
เจ็บคอ ปวดศีรษะ ต่อมน้ําเหลืองบริเวณขาหนีบหรือรักแร้โตและมีหนอง หรือม้ามโตและมีหนอง
ประเภทที่สอง กาฬโรคชนิดโลหิตเป็นพิษ (Septicemic plague) มีอาการของโลหิตเป็นพิษ
ไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน คอหอยและทอนซิลอักเสบ อาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และจ้ําเลือดตามผิวหนัง
ประเภทที่สาม กาฬโรคปอด (Pneumonic plague) มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ไอ
มีเสมหะปนเลือด หอบ เมื่อถ่ายภาพเอกซเรย์ที่ปอดจะพบลักษณะของปอดอักเสบ
(๒) ไข้ทรพิษ (Smallpox) มีอาการไข้สูง ปวดตามตัว ปวดศีรษะ ปวดหลัง อ่อนเพลีย
อาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ระยะก่อนที่จะมีผื่นขึ้น จะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หลังจากไข้สูงแล้ว
จะปรากฏผื่นขึ้น ต่อมาจะกลายเป็นตุ่ม ตุ่มใส ตุ่มหนอง และตกสะเก็ดเป็นระยะเวลา ๓ - ๔ สัปดาห์
โดยผื่นจะปรากฏที่บริเวณใบหน้า แขน และขามากกว่าบริเวณลําตัว โดยเฉพาะบริเวณที่ได้รับการเสียดสีบ่อยๆ
แผลที่ตกสะเก็ดเมื่อหายแล้วอาจทําให้เกิดแผลเป็นรอยบุ๋ม และอาจทําให้เกิดความพิการจนถึงขั้นตาบอดได้
(๓) ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก (Crimean - Congo hemorrhagic fever) อาการจะเริ่ม
อย่างเฉียบพลัน โดยมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มึนงง ปวดคอร่วมกับคอแข็ง ปวดหลัง ปวดศีรษะ เจ็บตา
ใบหน้าแดง และกลัวแสง บางรายอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเจ็บคอในระยะแรก ซึ่งมักพบ
ร่วมกับท้องร่วงและปวดท้อง ต่อมาจะมีอารมณ์แปรปรวน สับสน และก้าวร้าว จากนั้นอาจมีอาการง่วง
ซึมเศร้า หัวใจเต้นเร็ว ต่อมน้ําเหลืองโต มีเลือดออกใต้ผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ปาก เพดานปาก
ลําคอ และพบเลือดออกจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร มีเลือดปนในปัสสาวะ
มีเลือดกําเดา และเลือดออกจากเหงือก ในบางรายอาจพบอาการของตับอักเสบ
(๔) ไข้เวสต์ไนล์ (West Nile Fever) มีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น มีเหงื่อออก
มีผื่นที่ผิวหนัง อ่อนเพลีย ต่อมน้ําเหลืองอักเสบ ซึม ปวดข้อ และมีอาการคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่
บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการทางสมองร่วมด้วย เช่น สมอง
หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้สูง คอแข็ง ซึม ชัก และหมดสติ
(๕) ไข้เหลือง (Yellow fever) มีอาการไข้สูงเฉียบพลันเป็นระยะเวลา ๕ - ๗ วัน ปวดศีรษะ
ปวดหลัง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีเลือดกําเดา เลือดออกในปาก และถ่ายเป็นเลือด จะมีอาการ
ตัวเหลืองหรือตาเหลืองในระยะแรก อาจมีอาการมากขึ้นในระยะต่อมา และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
(๖) โรคไข้ลาสซา (Lassa fever) มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ อาเจียน ท้องร่วง เจ็บหน้าอก
และปวดบริเวณช่องท้อง อาการไข้จะยังคงมีอยู่ตลอด หรืออาจไข้สูงเป็นระยะ มีอาการตาอักเสบ
คออักเสบและเป็นหนอง บางรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการเลือดออก ช็อก มีอาการบวมที่หน้าและคอ
จะมีปริมาณเกล็ดเลือดลดลงและการทํางานของเกล็ดเลือดผิดปกติ บางรายอาจมีอาการหูหนวกจากพยาธิ สภาพที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ ๘
(๗) โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus disease) มีอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้สูง
ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สมองอักเสบ บางรายอาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย หรืออาจมี
อาการไข้ร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น วิงเวียนศีรษะ เดินโซเซ ซึม สับสน หรือชัก มีการเคลื่อนไหว
ของลูกตาผิดปกติ แขนและขามีการกระตุก ความดันโลหิตและชีพจรแปรปรวน และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
(๘) โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease) มีอาการไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย
ปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะมาก ตามมาด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว
มีอาการเลือดออกง่ายซึ่งมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทําลาย ไตวาย มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง
ช็อก อวัยวะหลายระบบเสื่อมหน้าที่ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
(๙) โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD) มีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ
ปวดศีรษะ และเจ็บคอ ตามมาด้วยการอาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นขึ้น บางรายจะมีเลือดออกทั้งในอวัยวะ
ภายในและภายนอก ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบว่ามีตับวายหรือไตวาย และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ส่วนใหญ่มักมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยหรือตายด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD)
(๑๐) โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา (Handra virus disease) มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอวิงเวียน
ซึม และสับสน หรืออาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ในระยะแรกมักจะพบอาการปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรง
จะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
(๑๑) โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory
Syndrome - SARS) มีอาการไข้สูง ปวดตามตัว ปวดศีรษะ บางรายอาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจ
เล็กน้อย อาจมีอาการถ่ายเหลว อาการปอดอักเสบ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
(๑๒) โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส (Middle East Respiratory
Syndrome - MERS) มีอาการไข้ ไอ หอบ บางรายมีอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อาเจียน
ในรายที่มีอาการรุนแรงมักมีอาการแสดงของโรคปอดอักเสบ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว อวัยวะล้มเหลว
โดยเฉพาะไตวาย และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ปิยะสกล สกลสัตยาทร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข