ผลวิจัยระบุชัด”โทรศัพท์มือถือ”ไม่ได้ก่อ”มะเร็งสมอง”

ทุกวันนี้การรับสารจากสื่อหลากหลายชนิดที่ระดมเข้าถึงตัวผู้เสพสื่ออย่างเราๆ ท่านๆ กำลังเป็นปัญหาสำคัญในสังคม การรับสารและส่งต่อโดยไม่มีการพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบนั้น กำลังบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อยุคใหม่ที่ขาดคนกลางในการคัดกรองและตรวจสอบความน่าเชื่อถือของสารเหล่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น การส่งต่อสารที่มาจากนักวิจัยกลุ่มหนึ่งที่เปิดผลการทดลองของตนเองว่า คลื่นจากโทรศัพท์มือถือนั้นก่อให้เกิดเนื้องอก 2 ชนิดในหนูทดลองตัวผู้ได้มากกว่าหนูทดลองกลุ่มที่ไม่ได้รับคลื่นความถี่ที่เกิดจากโทรศัพท์มือถืออย่างชัดเจน และเนื้องอกที่พบนั้น มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้สูงมาก
ในความเป็นจริงสารดังกล่าวก็ระบุอยู่อย่างโจ่งแจ้งว่า หนูที่เกิดเนื้องอกนั้น เป็นหนูตัวผู้เท่านั้น (และไม่อาจระบุได้ว่าจะเกิดกับมนุษย์ได้ด้วย) ซึ่งไม่สามารถตีความหรือใช้เป็นหลักฐานชี้ชัดว่า เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้จะทำให้มนุษย์ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกหรือมะเร็ง     

ซึ่งผลการทดลองเช่นนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทดลองต่อยอดเพื่อค้นหาให้ลึกซึ้งถึงสาเหตุที่แท้จริง และผู้รับสารที่ได้ยินได้ฟังผลการทดลองมาก็ควรใช้สติไตร่ตรองให้มาก เพื่อชั่งน้ำหนักถึงเรื่องที่ได้ยินมา แม้จะดูน่ากลัว แต่ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องแพร่กระจายความน่ากลัวนี้ออกไปในวงกว้าง

นายแบรด์ พลัมเมอร์ นักเขียนของเว็บไซต์ www.vox.com ผู้เขียนบทความเรื่องนี้ ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า วิทยาศาสตร์มีความเคลื่อนไหวช้า ผลการศึกษาของกลุ่มคนหรือบุคคลหนึ่งมักจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และยากที่จะพบว่าผลการศึกษาของกลุ่มบุคคลหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นเรื่องที่ “พลิกโฉม” สิ่งที่มนุษยชาติเคยรับรู้มาเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ขณะที่ผู้สื่อข่าวก็ควรจะเพิ่มเติมหลักฐานที่น่าเชื่อถือเข้าไปในการรายงานข่าว มากกว่าที่จะหวังเกาะกระแสความกลัวของผู้คนเพื่อเพิ่มยอดคลิกเข้าชมในเว็บไซต์

ผลวิจัยระบุชัด”โทรศัพท์มือถือ”ไม่ได้ก่อ”มะเร็งสมอง”

นายพลัมเมอร์ระบุว่า รายงานข่าวผลการศึกษาเรื่องคลื่นความถี่ของโทรศัพท์มือถือที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดเนื้องอกในหนูตัวผู้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาในกรอบใหญ่ของสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ (เอ็นไอเอช) ที่ดำเนินการศึกษามานาน 2 ปี โดยนำเอาหนู 2 กลุ่มมาใช้เป็นตัวอย่างในการทดลอง กลุ่มหนึ่งจะต้องเผชิญกับคลื่นความถี่ที่แผ่ออกมาจากโทรศัพท์มือถือ และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มควบคุมที่ไม่มีการรับคลื่นความถี่ใดๆ และใช้ชีวิตตามปกติของหนูในพื้นที่ทดลอง

ส่วนผู้เขียนบทสรุปของการทดลองคือ อารอน คาร์โรล ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ และ
ผู้ช่วยคณบดีแห่งศูนย์การวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินเดียนา ที่เปิดเผยกับนายพลัมเมอร์ถึงขั้นตอนการทดลองว่า หนูที่ทำการทดลองในกลุ่มตัวอย่างที่ต้องรับคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถือนั้น ได้รับคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถือในเครือข่ายซีดีเอ็มเอ และจีเอสเอ็ม เป็นเวลา 9 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ โดยหนูที่นำมาทดลองนั้นเริ่มตั้งแต่เป็นวัยทารก และใช้หนูทั้ง 2 เพศมาทำการทดลองรับคลื่นความถี่เป็นเวลา 2 ปี ติดต่อกัน

ผลการทดลองพบว่าหนูเพศผู้กลุ่มที่รับคลื่นความถี่นั้น มีชีวิตรอดน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนูเพศเมียที่อยู่ในกลุ่มควบคุมมีอายุสั้นกว่าหนูเพศเมียที่อยู่ในกลุ่มตัวอย่างที่ต้องรับคลื่นความถี่ ดังนั้นจะเห็นได้ชัดเจนว่า การพาดหัวข่าวที่ว่าคลื่นความถี่ก่อให้เกิดมะเร็งในหนูนั้น เป็นการละเลยประเด็นสำคัญของผลการทดลองที่ระบุว่าหนูเพศเมียในกลุ่มที่ได้รับคลื่นความถี่มีอายุยืนยาวกว่าหนูกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้สัมผัสกับคลื่นใดๆ

ในส่วนของมะเร็งสมองนั้น ไม่มีเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนทางสถิติเมื่อเทียบระหว่างหนูที่อยู่ในกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมว่ามีแนวโน้มการเกิดโรคมะเร็งสมองแต่อย่างใด ขณะที่มีดัชนีชี้วัดที่ชัดเจนทางสถิติที่เกิดขึ้นในหนูกลุ่มทดลองว่าจะเกิดเนื้องอกในสมองอย่างมากในกลุ่มหนูทดลองเพศผู้ที่ได้รับคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถือในระบบซีดีเอ็มเอเท่านั้น โดยไม่มีผลที่ชัดเจนของกลุ่มหนูทดลองที่ได้รับคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถือในกลุ่มจีเอสเอ็ม

ส่วนผลการทดลองระหว่างหนูเพศเมียกลุ่มทดลองกับหนูเพศเมียกลุ่มควบคุมนั้น ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติใดๆ ที่แสดงถึงความแตกต่างระหว่างทั้งสอง

ด้านความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกในหัวใจ ชนิด cardiac schwannomas นั้น มีนัยสำคัญที่ชัดเจนในกลุ่มหนูเพศผู้กลุ่มทดลอง ขณะที่หนูเพศเมียในทั้งสองกลุ่มไม่มีนัยสำคัญทางสถิติใดๆ บ่งชี้ถึงความแตกต่างของโอกาสในการเกิดเนื้องอกในหัวใจชนิดนี้เลย


ผลวิจัยระบุชัด”โทรศัพท์มือถือ”ไม่ได้ก่อ”มะเร็งสมอง”

นายพลัมเมอร์ยังชี้ด้วยว่า การคำนวณผลการศึกษามีปัจจัยเบี่ยงเบนสูงถึง 14% ซึ่งหมายถึงว่ามีโอกาสที่จะเกิดความไม่ถูกต้องของผลการวิจัยได้สูงมาก ส่วนผลการระบุความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งก็มีการชี้เฉพาะกลุ่มหนูเพศเมียเท่านั้น และอยู่ในขอบเขตผลการศึกษาในรูปแบบเดียวกันในครั้งที่ผ่านมา จึงไม่ได้แสดงถึงว่าหนูเพศเมียมีการตอบสนองต่อคลื่นความถี่อย่างชัดเจน นอกจากนั้นผลการศึกษาในครั้งนี้ยังพบด้วยว่า หนูเพศผู้ในกลุ่มควบคุมมีอัตราการรอดชีวิตในระดับต่ำมาก ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่า ในช่วงอายุหลังจาก 2 ปี หลังการทดลองนี้ หนูเพศผู้จะมีโอกาสเกิดเนื้องอกขึ้นมาได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นสถิติที่นำมาหักล้างนัยสำคัญทางสถิติของผลการทดลองในครั้งนี้ได้ด้วยเช่นกัน
               
สรุปง่ายๆ ว่า นักวิจัยพบปัจจัยการเกิดเนื้องอก  2 ชนิดในหนูเพศผู้มากเป็นนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งเนื้องอกในสมองและเนื้องอกในหัวใจหลังจากรับคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถืออย่างหนักติดต่อกัน แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าผลการทดลองนี้มีความผิดพลาดมากน้อยเพียงใด และเป็นเรื่องที่อันตรายมากที่ไม่ได้มีการเปิดเผยต่อไปด้วยว่า หนูที่ได้รับคลื่นความถี่มีอายุยืนกว่าหนูในกลุ่มควบคุมมากนัก
               
ดังนั้นจึงจะพูดได้ง่ายๆ ว่า ผลการทดลองครั้งนี้เป็นการทดลองเพียงครั้งเดียวที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ต้องทำการทดลองเลียนแบบกันเพื่อค้นหาสถิติทางการทดลองเพื่อนำมาเปรียบเทียบ และค้นหาความจริงของปัจจัยแห่งสมมุติฐานว่าเป็นความจริงหรือไม่อย่างไรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
               
การทดลองนี้กระทำต่อหนู    หนูที่มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีความคล้ายคลึงกับมนุษย์ แม้หนูจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการทำวิจัยด้านเวชภัณฑ์ แต่ก็ไม่ได้มีความเหมือนกับมนุษย์ไปเสียทุกอย่าง ซึ่งผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายประการที่กระทำต่อสัตว์ทดลองนั้น ไม่ได้ส่งผลต่อมนุษย์แต่อย่างใด
               
นอกจากนั้นนักวิจัยยังให้หนูทดลองสัมผัสกับคลื่นความถี่อย่างมากถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน และ 7 วันต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่า ปริมาณคลื่นความถี่ที่หนูทดลองได้รับนั้นมากกว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ที่ถือโทรศัพท์มือถือจ่อไว้ที่ศีรษะหลายเท่านัก
               
สุดท้ายนั้นก็คิือ มีผลการทดลองจากกลุ่มนักวิจัยกลุ่มอื่นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า คลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถือนั้น ไม่ได้เป็นปัจจัยของความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ปริมาณของผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือในสหรัฐอเมริกามีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งสมองไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และกลับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 2523 เป็นต้นมา ซึ่งชี้ชัดจากผลการศึกษากับประชากรในสหรัฐอเมริกาแล้วว่า สมมุติฐานของนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการทดลองกับหนูในครั้งนี้นัั้นไม่ได้มีความน่าเชื่อถือ
               แต่ด้วยการแข่งขันระหว่างกลุ่มนักวิจัยในประเทศพัฒนาแล้วมีอยู่ด้วยกันสูงมาก ประกอบกับการเผยแพร่ของสื่อที่มีความหลากหลายในด้านช่องทาง และการเข้าถึงบุคคลผู้รับสารในปัจจุบัน ทำให้ผลการวิจัยที่ออกมานั้นจะเอนเอียงไปในทางด้านการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้วิจัยเอง และผู้รับสารก็เชื่อถือเนื้อหาที่ได้เห็นตั้งแต่แรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพาดหัวข่าวที่รุนแรงมีน้ำหนักและดูน่ากลัว ทั้งที่จริงแล้วผลการวิจัยที่ออกมาในหลายฉบับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการศึกษา   ค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่มนุษยชาติ และเป็นจุดสำคัญที่สื่อมวลชนต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ดีก่อนนำเสนอข่าวที่มีผลกระทบต่อสังคมให้มากขึ้น ต่อไป

 

ผลวิจัยระบุชัด”โทรศัพท์มือถือ”ไม่ได้ก่อ”มะเร็งสมอง”

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์