นักวิจัยเผยว่า สาเหตุน่าจะมาจากการที่รับเอาน้ำตาลแลกโตสกับน้ำตาลกาแลกโตสเข้าไปมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดออกซิเดทิฟสเตรส (oxidative stress) และการติดเชื้อเรื้อรังในการศึกษากับสัตว์ทดลอง
ประเด็นหลักของงานวิจัยครั้งนี้คือ การแสดงความสัมพันธ์ แต่ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุและผลที่เกิดขึ้นตามมาได้ และควรจะตีความหมายของผลการทดลองอย่างระมัดระวัง อาจจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพื่อนำไปเป็นข้อแนะนำในการบริโภคต่อไป
การดื่มนมในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกหักหรือพรุนได้ แต่งานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของนมต่อการป้องกันโรคกระดูกหักและอิทธิพลต่อการเสียชีวิตกลับให้ผลที่ค่อนข้างขัดแย้งกัน
นักวิจัยจากสวีเดน นำโดย ศาสตราจารย์คาร์ล มิเชลสัน จึงได้ศึกษาว่า การดื่มนมนั้นช่วยให้ออกซิเดทิฟสเตรสเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตและกระดูกหักที่เพิ่มขึ้น
นักวิจัยได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่มคือ หญิง 61,433 คนอายุระหว่าง 39-74 ปี (ในช่วงที่ทำการบันทึกประวัติคือ ปี 1987-1990) กับชาย 45,339 คน อายุระหว่าง 45-79 ปี (ในช่วงที่ทำการบันทึกประวัติคือปี 1997) โดยเป็นประชากรชาวสวีเดนที่ทำการตอบแบบสอบถามอาหาร 96 ชนิดที่รับประทานบ่อยกันที่สุด ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงนม โยเกิร์ต และชีสด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการเก็บข้อมูลวิถีชีวิต น้ำหนักส่วนสูง และปัจจัยอื่นๆเช่น การศึกษา การแต่งงาน เข้ามาไว้ในฐานข้อมูลด้วย และนักวิจัยก็ติดตามผลของสุขภาพของโรคกระดูกหักและอัตราการเสียชีวิตผ่านจากระบบทะเบียนแห่งชาติ
นักวิจัยศึกษาประวัติของผู้หญิงในกรอบเวลา 20 ปี ซึ่งมีคนเสียชีวิตไป 15,541 ราย และ 17,252 รายเป็นโรคกระดูกหักหรือพรุน ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีอาการที่สะโพก คิดเป็น 4,259 ราย
ในผู้หญิงนั้นพบว่า ความเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูกหักไม่ได้ลดลงเลยเมื่อดื่มนมเข้าไปมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้หญิงที่ดื่มนมมากกว่า 3 แก้วต่อวัน (ประมาณ 680 มิลลิลิตร) กลับมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิงที่ดื่มนมน้อยกว่าหนึ่งแก้วต่อวันเสียอีก (เฉลี่ย 60 มิลลิลิตร)
ส่วนผู้ชายนั้น นักวิจัยศึกษาประวัติในกรอบเวลาเฉลี่ย 11 ปี ซึ่งมีคนเสียชีวิตไป 10,122 ราย และ 5,066 รายเป็นโรคกระดูกหักหรือพรุน และมีผู้ที่กระดูกหักที่สะโพก 1,166 ราย ผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากขึ้นเพื่อดื่มนมเข้าไปมากๆเช่นเดียวกับผู้หญิง แม้ว่าความเสี่ยงนี้อาจจะไม่เท่ากับผู้หญิงก็ตาม
นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้วิเคราะห์เพิ่มเติมและพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มนมและออกซิเดทิฟสเตรสและการติดเชื้อ มีความสัมพันธ์เชิงบวก
ในขณะที่การดื่มผลิตภัณฑ์จากนมที่มีน้ำตาลแลกโตสต่ำ (เช่น โยเกิร์ตและชีส) กลับช่วยให้อัตราการเสียชีวิตและโรคกระดูกหักลดลงไป โดยเฉพาะในผู้หญิง
นักวิจัยจึงได้สรุปว่า การดื่มนมเข้าไปมากๆในผู้หญิงและผู้ชายนั้นไม่ได้ช่วยให้อัตราของการเป็นโรคกระดูกพรุนลดลงไป แต่กลับมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้น ทั้งนี้ ปริมาณของแลกโตสและกาแลกโตสในนมอาจจะมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงเหล่านี้ ซึ่งจำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทดสอบต่อไป
"ผลการศึกษาของเราอาจจะทำให้โครงการรณรงค์ให้ดื่มนมมากๆเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนต้องมาถกเถียงกันอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม เรายังต้องตีความผลอย่างระมัดระวังโดยควรจะมีการศึกษาที่เราควบคุมและสังเกตการณ์ได้เอง การค้นพบครั้งนี้ควรจะมีการทดลองซ้ำเพื่อจะได้นำไปสรุปเป็นคำแนะนำเชิงโภชนาการที่ถูกต้องได้ต่อไป" นักวิจัยเผย
ที่มา : vcharkarn.com