1. กินแป้งมาก สมองเฉื่อย
คนที่ชอบรับประทานขนมขบเคี้ยว เช่น ขนมอบกรอบชนิดแผ่น ข้าวโพดอบกรอบ ปลาเส้น ปลาอบกรอบ ถั่วอบกรอบ ฯลฯ โดยขนมเหล่านี้จัดเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง แต่ให้คุณค่าทางโภชนาการน้อยเพราะอุดมไปด้วยแป้ง น้ำตาลและไขมัน ซึ่งถ้าหากทานรวมกับอาหารหลักในชีวิตประจำวัน อาจทำให้ได้รับอาหารประเภทแป้งน้ำตาลมากเกินไป และส่งผลให้เกิดอาการง่วง ไม่ตื่นตัว สมองทึบหรือตื้อได้
2. ไข่ลวก ยอดอาหารราคาถูก
ไข่ลวกช่วยทำให้สมองโปร่ง สดชื่น เพราะไข่มีโปรตีนย่อยง่าย ทั้งยังมีสารเลซิตินซึ่งมีวิตามินบีที่ชื่อว่า โคลีน(choline) ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ในการทำไข่ลวกนั้นไม่ควรทำให้ดิบจนเกินไป เพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรียชนิดซาลโมเนลลาซึ่งทำให้ท้องร่วงได้ รวมทั้งยังมีสารโปรตีนเอวิดินที่ขัดขวางการดูดซึมวิตามินบีที่ชื่อ ไบโอติน (Biotin) ด้วย
3. ผลไม้กับถั่ว แหล่งแร่ธาตุ
ในผลไม้กับถั่ว มีแร่ธาตุที่สำคัญตัวหนึ่งคือ โบรอน(Boron) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งกระแสประสาทของสมอง คนที่รับประทานโบรอนต่ำจะทำให้การตอบสนองของประสาทเชื่องช้าลง บางคนมีปัญหาถึงขนาดใช้นิ้วมือไม่ถนัด เกิดอาการมือไม้สะดุด กึกกักไปหมด ดังนั้นหากร่างกายได้รับธาตุโบรอน จะสามารถช่วยให้สมองทำงานฉับไวขึ้น
4. นม
สร้างความกระปรี้กระเปร่า ขณะที่อาหารประเภทแป้งทำให้เซื่องซึม โปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น นมสดกลับให้ผลในทางตรงข้าม โดยการดื่มนมนั้น จะช่วยทำให้สมดุลของสารเคมีในสมองเปลี่ยน โปรตีนบางชนิดในนมจะกดให้สารเซโรโทนินลดปริมาณลง ทำให้สารโดพามีนเพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลให้สมองตื่นตัว กระฉับกระเฉง
5. ปลาทะเล
สุดยอดวัตถุดิบเพื่อสมอง แร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง คือ สังกะสี (Zinc) โดยคนที่มักมีอาการเหม่อลอย อาจเกิดจากการขาดธาตุสังกะสี สำหรับธาตุสังกะสี จะพบมากในอาหารทะเล โดยเฉพาะปลาทะเล นอกจากนี้ในปลาทะเลยังมีแร่ธาตุไอโอดีน ซึ่งถ้าหากร่างกายได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายเป็นประจำ จะมีผลต่อการควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้เกิดอาการคอพอก มีสติปัญญาด้อยกว่าปกติ หรือมีพัฒนาการทางร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์