คาดการณ์ว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมประมาณ 35.6 ล้านคน ทุก 20 ปีจะมีปริมาณผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และภายในปี ค.ศ.2050 จะมียอดผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมรวมกว่า 115.4 ล้านคน โดยโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดร้อยละ 60-80 ของภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด รองลงมาคือ ภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือด
สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขเคยคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมไว้ประมาณ 229,000 คน ในปี 2005 และมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยโรคอัลไซเมอร์มีร้อยละ 40-70 ของภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด สมองทำไมต้องเสื่อม? หากดูจากหนัง Still Alice มันแทบจะไม่มีคำตอบนอกจากยีนผิดปกติ
แต่ทำไมเราจะปล่อยให้ความไม่รู้นี้เป็นปัญหากับเราล่ะ มันมีวิธีการมากมายที่จะช่วยป้องกันไม่ให้สมองของเราเสื่อมตามวัยหรืออายุที่มากขึ้นนะคะ ไม่ลองไม่รู้ แต่ลองแล้วมันต้องดีกว่าไม่ทำแน่นอนค่ะ
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การป้องกันโรคสมองเสื่อมได้มีอยู่ทั้งหมด 4 เทคนิคด้วยกันคือ
1. บริหารสมอง โดยฝึกทักษะการใช้มือ เท้า และประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้สามารถรับรู้และเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ให้ระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาทและสมองส่วนต่างๆ ทำงานประสานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ เช่น เต้นรำ เล่นหมากรุก หมากล้อม โยคะ รำมวยจีน ต่อจิกซอว์ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ทำงานบ้านหรืองานอดิเรกที่ชอบ เป็นต้น
2. บริโภคอาหาร โดยรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่สมอง เช่น การดื่มเหล้าจัดหรือการรับประทานยาโดยไม่จำเป็น เลือกรับประทานอาหารที่บำรุงสมอง เช่น ธัญพืชหรือถั่ว ผักใบเขียวทุกชนิด ถั่วเหลือง อัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง ผลไม้รสเปรี้ยว ปลาทะเลน้ำลึก ปลาทูน่า เป็นต้น
3. รักษาร่างกาย โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี หรือถ้ามีโรคประจำตัวอยู่เดิมก็ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ หากมีอาการเจ็บป่วยควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพื่อลดโอกาสเกิดอาการสับสนเฉียบพลัน ที่สำคัญ ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุต่อสมอง ระวังการหกล้ม เป็นต้น
4. ผ่อนคลายความเครียด โดยการหารูปแบบที่เหมาะสมกับตนเองให้มากที่สุด และสามารถนำมาใช้ได้กับชีวิตจริง เช่น การฝึกหายใจเข้า-ออกลึกๆ ช้าๆ การฝึกสมาธิ การพูดคุย หรือพบปะผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยงต่างๆ หรือเข้าชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น