"กรมควบคุมโรค" ระบุ "ไวรัสตับอักเสบ" ภัยเงียบก่อตับแข็ง และมะเร็ง เหตุไม่มีอาการจนกว่าระยะสุดท้าย ทำกลุ่มเสี่ยงเมินการตรวจ ทั้งที่ไวรัสซีรักษาหายได้ นายกสมาคมโรคตับฯ ย้ำ คนเป็นพาหะถือเป็นผู้ป่วย ต้องตรวจประเมินติดตามภาวะตับพังทุก 6 เดือน
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเนื่องในวันตับอักเสบโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 28 ก.ค. ของทุกปี ซึ่งปีนี้มีคำขวัญ คือ “ตรวจเร็ว รักษาได้ ห่างไกลมะเร็งตับ” ว่า สาเหตุของโรคตับอักเสบที่พบบ่อยในคนไทย คือ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไวรัสตับอักเสบมี 5 ชนิด คือ เอ บี ซี ดี และ อี ที่ต้องระมัดระวังมากที่สุด คือ ไวรัสตับอักเสบบี และ ซี เพราะมีอาการไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ติดเชื้อไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ และอาจกลายเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ ในอนาคต โดยประเทศไทยคาดว่า มีผู้เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบี ประมาณ 2 - 3 ล้านคน พาหะไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 4 - 5 แสนคน อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ คนกลุ่มเสี่ยงไม่ค่อยมาตรวจ ทั้งที่ รพ. รัฐ ทุกแห่งสามารถตรวจคัดกรองได้ หากพบว่าติดเชื้อก็จะได้รับการรักษาฟรี
นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาของตับอักเสบเรื้อรัง คือ ไม่มีอาการ ทำให้ไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ก็คือ เป็นระยะสุดท้ายแล้ว ที่มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ท้องมาน ขาบวม เป็นต้น สำหรับประเทศไทยไวรัสตับอักเสบบี สามารถลดอัตราการติดเชื้อลงจากประมาณร้อยละ 10 ของประชากรในปี 2534 ลดลงเหลือร้อยละ 0.1 ในปัจจุบัน เนื่องจากมีการให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบบีแก่เด็กทารกเกิดใหม่ทุกคนมาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะหมดไป เพราะมีการป้องกันตั้งแต่เกิด ส่วนไวรัสตับอักเสบซีเพิ่งเป็นที่รู้จัก และมีการตรวจคัดกรองก่อนรับบริจาคเลือดเมื่อปี 2534 - 2535 ดังนั้น คนที่เกิดก่อนที 2535 หรือเคยได้รับเลือดก่อนปี 2535 ควรมีการตรวจคัดกรองว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หากมีการติดเชื้อก็จะได้รับยารักษาฟรี เนื่องจากเป็นยาอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจะสามารถช่วยควบคุมโรคจากไวรัสตับอักเสบบีได้ ส่วนไวรัสตับอักเสบซีมีโอกาสรักษาหาย
“คนยังเข้าใจผิดกันอยู่ว่าคนที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ ไม่ใช่ผู้ป่วย เพราะไม่มีอาการ จึงไม่ตรวจประเมินอาการ แต่แท้จริงแล้วคนที่เป็นพาหะ ถือว่าเป็นผู้ป่วยด้วย เพราะมีการทำลายตับอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ยังไม่รุนแรงเท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่เป็นพาหะควรมาตรวจประเมินเพื่อติดตามเป็นประจำทุก 6 เดือน เนื่องจากไม่ใช่ผู้ติดเชื้อ ทุกคนที่จะได้รับยารักษาทันที อย่างไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งไม่ได้ทำลายตับโดยตรง แต่เกิดจากภูมิคุ้มกันที่มาสู้กับไวรัส ซึ่งตับเปรียบเสมือนสมรภูมินั้นถูกทำลายตับไปมากแล้วหรือไม่ หากยังไม่ถึงขั้นทำลายตับก็อาจยังไม่ต้องรับยา แต่ต้องมาตรวจประเมินเป็นประจำ
ส่วนไวรัสตับอักเสบซีนั้น จะใช้เวลาประมาณ 20 - 30 ปี จึงจะเป็นตับแข็ง การให้ยารักษาจึงจะเน้นในกลุ่มคนที่ตับอักเสบมาก ๆ ก่อน ประมาณ 5 - 10 ปี จะเป็นตับแข็งแล้ว ส่วนกลุ่มเป็นน้อยอาจให้รอไปก่อน เพราะปัจจุบันกำลังมียาตัวใหม่ ๆ ที่ดี และราคาถูกออกมา และไม่ต้องเผชิญกับผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาตับอักเสบซีที่เป็นชนิดฉีด” นพ.ทวีศักดิ์ กล่าว
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 28 ก.ค. นี้ จะมีการรวมตัวของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบกว่า 100 คน มาที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยจะมายื่นข้อเสนอให้แก่ปัญหาคอขวดในเรื่องการตรวจคัดกรอง ให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชื่ออยู่ในระบบอยู่แล้ว ได้รับการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซีทั้งหมด รวมถึงทำให้ผู้ให้บริการตระหนักถึงความจำเป็นในการตรวจคัดกรองเพราะหากตรวจเร็ว รักษาได้ ก็จะช่วยให้ห่างไกลจากมะเร็งตับ และการส่งตรวจ PCR ในการติดตามผลด้วยว่ายังมีเชื้อไวรัสอยู่อีกหรือไม่ในไวรัสตับอักเสบซี
รวมถึงข้อเสนอในการผลักดันยารักษาไวรัสตับอักเสบแบบใหม่ที่เป็นยากินและเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อตัวไวรัสโดยตรง เรียกว่ายา DAA ให้เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้วย เพราะเป็นยากินระยะเวลาการรักษาน้อยกว่ายาแบบฉีด คือ ยาเพกกิเลต อินเตอร์เฟียรอน ซึ่งเป็นการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งประสิทธิภาพการรักษาในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ที่ประมาณ 50% เท่านั้น และต้องใช้เวลารักษาอย่างต่ำ 1 ปี และมีผลข้างเคียงคล้ายกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด