หมอเปิดภาพเตือน ใครกินน้ำน้อยระวังนิ่วท่อน้ำลาย ลักษณะแบบนี้?
ทั้งนี้ รศ.ดร.สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้เรื่อง นิ่วน้ำลาย คือ นิ่วในต่อมน้ำลายหรือท่อน้ำลาย เกิดจากการสะสมขององค์ประกอบทางเคมีในน้ำลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแคลเซียม อาจเกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำลายลดลงและ/หรือมีผนังท่อน้ำลายหนา แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
เมื่อมีนิ่วในต่อมน้ำลายหรือท่อน้ำลาย หรือทั้งคู่ จะเกิดท่อน้ำลายอุดตัน ทำให้น้ำลายไหลเปิดสู่ช่องปากไม่ได้ซึ่งพบนิ่วของต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรมากที่สุดในจำนวนต่อมน้ำลายหลักทั้งสามคู่นี้
ผู้ป่วยมักจะมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการของท่อน้ำลายอุดตัน คือมีอาการบวมใต้คาง เป็นๆหายๆ โดยเฉพาะเวลาที่จะกินอาหาร เนื่องจากน้ำลายที่ถูกสร้างไม่สามารถไหลออกมาได้ อาจมีอาการปวดร่วมด้วยเมื่อมีการคั่งของน้ำลายมากๆ รวมทั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนเมื่อมีการติดเชื้อ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบผนังท่อน้ำลาย และกลายเป็นฝีได
เมื่อการอักเสบลดลง เยื่อบุผนังท่อน้ำลายยุบบวม ท่อทางเดินน้ำลายจะกว้างขึ้นมาอยู่ในระดับปกติ และให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวเพื่อรักษาตนเอง โดยดื่มน้ำมากๆ ให้อมวิตามินซีหรือรับประทานของเปรี้ยวเพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย และให้ประคบบริเวณคางที่บวมด้วยน้ำอุ่นพร้อมกับใช้มือรีดแก้มและคางจากบริเวณด้านข้างลงตามแนวแก้ม เพื่อกระตุ้นให้น้ำลายไหลสู่ช่องปากมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีนิ่วหลุดออกมาได้
แต่กรณีนิ่วไม่หลุดออกมาหรือนิ่วขนาดใหญ่ สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด โดยคีบก้อนนิ่วออก รวมทั้งเปิดปากทางออกของท่อน้ำลายให้กว้างขึ้น หรืออาจผ่าตัดเอาต่อมน้ำลายข้างที่เป็นนิ่วออก