รู้จักไวรัสRSV คร่าชีวิตเด็ก1ราย ยังไม่มียารักษา-วัคซีนป้องกัน
หน้าแรกTeeNee รวมเรื่องสุขภาพดีๆ ข่าวสุขภาพและสุขภาพทั่วไป รู้จักไวรัสRSV คร่าชีวิตเด็ก1ราย ยังไม่มียารักษา-วัคซีนป้องกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงการแพร่ระบาดของไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus)
โดยระบุว่า "สุดยื้อ! RSV เสียชีวิตแล้ว 1 คน เป็นการเปิดเกมในฤดูระบาดในเมืองโคราชที่โหดมาก
กลุ่มที่มีโรคประจำตัว อย่างเช่นเคสนี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะอาการรุนแรงมาก ถ้าไม่หยุดการระบาดนี้ เคสที่ 2 3 4 ตามมาแน่นอน เพราะเรามีเด็กที่มีโรคประจำตัวหลายอย่างรักษาอยู่เป็นจำนวนมาก และกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบโดยตรง ใครบ้างที่เสี่ยงเจออาการรุนแรง?
- อายุน้อยกว่า 1 ขวบ
- โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง
- โรคหัวใจแต่กำเนิด
- โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ
- โรคระบบประสาทผิดปกติ
- โรคความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม
เด็กโตๆ ที่ไปโรงเรียนอาจไม่มีปัญหา เป็นเพียงแค่หวัดเล็กน้อย หรือเพียงไอมีเสมหะมาก แต่หากเด็กเหล่านี้นำเชื้อกลับไปติด เด็กในกลุ่มดังกล่าว คงไม่ต้องบรรยายต่อเลยนะครับ คุณผู้ปกครองท่านใดที่ลูกเคยป่วยด้วยเชื้อนี้แล้ว คงจะทราบดีว่าเด็กจะได้รับความทุกข์ทรมานมากขนาดไหน หากอาการรุนแรง ตอนช่วงยุคโควิดระบาด เรายังไม่เจอเด็กที่เสียชีวิต หรือได้รับความเจ็บป่วยอย่างทุกข์ทรมานจากระบบหายใจล้มเหลวบ่อยเท่าช่วงนี้เลยนะครับ
โควิดจางลงไปแล้ว ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเราละเลยการป้องกัน แล้วปล่อยให้เชื้อไวรัสในระบบหายใจ อย่างเช่น rsv ระบาดแบบนี้ เด็กในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว รวมถึงผู้สูงอายุ ก็มีความเสี่ยงที่จะป่วยอาการรุนแรง และเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน ปัจจุบันเชื้อตัวนี้ อยู่กับเรามาหลายสิบปี ยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการประคับประคองล้วนๆ
ส่วนการป้องกันก็แบบเดิมนี่แหละครับ สวมหน้ากาก ล้างมือ ไม่ปล่อยให้เด็กที่ป่วยมีไข้ไม่สบายเข้าไปในเนิร์สเซอรี ส่วนเด็กโตที่ป่วยหรือไม่สบายควรสวมหน้ากาก ล้างมือ และไม่ไปสัมผัสเด็กเล็กหรือเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง
สำหรับไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดในเด็กเล็ก ที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ ในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว มักทำให้เกิดโรคหลอดลมฝอยอักเสบในเด็กเล็ก แพร่ระบาดได้รวดเร็วทำให้เด็กป่วยพร้อมกันเป็นจำนวนมาก โรคนี้ทักมีความรุนแรงกว่าไข้หวัดทั่วไป ทำให้เด็กมีอาการหอบเหนื่อย หรือมีภาวะปอดอักเสบร่วมด้วย