แนะวิธีสังเกตอาการ ภาวะMIS-Cและลองโควิด ในเด็กหายป่วยโควิด
ส่วนภาวะ Long COVID อ้างอิงจากนิยามองค์การอนามัยโลก ประกาศ ณ วันที่ 6 ต.ค.64 ระบุว่า เป็นอาการผิดปกติเกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือนนับจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยอาการเกิดขึ้นได้หลายระบบอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับติดเชื้อโควิดนานกว่า 4-12 สัปดาห์และอาการที่เกิดขึ้นไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการวินิจฉัยสาเหตุอื่นๆ
ภาวะลองโควิดในเด็ก พบเพียง 25-45% ซึ่งระบบที่พบ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ภาวะเหล่านี้มักไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง อาการจะเป็นๆ หายๆ ได้ การรักษาโรคนี้มักเป็นการแยกโรคที่รุนแรงอื่นและรักษาตามอาการ รวมถึงการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ ยังไม่แน่ชัดมีข้อสังเกตที่พบในหลายๆ การศึกษา อาทิ เพศหญิง อายุมาก ภาวะอ้วน มีโรคประจำตัว มีอาการมากกว่า 5 อาการในช่วง 1 สัปดาห์แรก ของการเจ็บป่วย และความรุนแรงของโรคมากในระยะแรกเป็นต้น
ความชุกของอาการผิดปกติต่างๆ ในภาวะลองโควิด จากผลการศึกษาในต่างประเทศ พบหลากหลายตั้งแต่ 14-64% เนื่องจากมีความไม่ชัดเจนของนิยาม ขาดองค์ความรู้ด้านพยาธิสภาพ ปัจจัยเสี่ยง และ การวินิจฉัย รวมทั้งวิธีการประเมินอาการผิดปกติที่แตกต่างกัน
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า กลุ่มอาการนี้เริ่มมีการรายงานครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นมีรายงานที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ อายุโดยเฉลี่ย 8-10 ปี อุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 0.03 ของผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิดทั้งหมด
เด็กมักจะมาด้วยอาการไข้สูง ผื่น ปากแดง ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต อาเจียน ถ่ายเหลว บางรายมีหอบเหนื่อย ปอดอักเสบ และมีภาวะช็อคจากการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ ผู้ป่วยเด็กมากกว่า 50% จำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยเด็กวิกฤตเนื่องจากภาวะช็อค ภาวะนี้มีอันตรายถึงชีวิตได้ อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 3% สามารถรักษาด้วยการให้อิมมูโนกลอบูลินและสเตียรอยด์
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตอบสนองต่อการรักษาดี ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีพบผู้ป่วยที่มาด้วยภาวะนี้จำนวน 15 คน ซึ่งยังไม่พบผู้เสียชีวิต แต่ยังต้องติดตามการรักษาต่อเนื่องโดยพบว่า 7-14% ยังมีการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ นอกจากนี้ทางสถาบันฯ ยังมีโครงการตรวจติดตามผู้ป่วยเด็กติดเชื้อโควิดที่เข้ารับการรักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเป็นระยะๆ จากการติดตามในทุกระบบของร่างกายยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและสถาบันฯ ยังคงติดตามดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง