การปฏิบัติตนที่เหมาะสม ของผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19
โดยทางด้าน "อ..ดร.พญ.สุวพร อนุกูลเรืองกิตติ์" แพทย์สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยว่า โดยทั่วไปผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว แพทย์จะพิจารณาให้ออกจากรพ.ได้ ก็ต่อเมื่อครบระยะ 14 วันหลังเริ่มมีอาการ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะกลับไปแพร่เชื้อให้คนในบ้านหรือคนในชุมชนก็คือ น้อยมากๆ เนื่องจากการแพร่เชื้อในโรคนี้ส่วนใหญ่จะแพร่เชื้อในช่วง 14 วันหลังมีอาการ
วิธีสังเกตอาการว่าจะไม่กลับมาแพร่เชื้อได้อีก
1. ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ ไอ จาม และน้ำมูก
2. ถ้าระยะเวลาเกิน 14 วัน หลังจากที่เริ่มมีอาการไปแล้ว ถือว่าผู้ป่วยหายจากโควิด-19 โดยที่ไม่ไปแพร่เชื้อให้คนอื่นได้
หากผู้ป่วยไม่มีอาการโควิด-19 หลัง 14 วันเป็นต้นไป โอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำอีกครั้งถือว่าน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ทำให้มีภูมิต่อการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว อย่างไรก็ตาม ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขจะยังแนะนำให้ผู้ป่วยพักฟื้นที่บ้านจนครบ 1 เดือน ก็คือให้พักผ่อน ดูแลตัวเองอยู่ที่บ้าน โดยที่ยังใช้มาตรการ และแนวทางเดิม ประโยชน์ก็คือ ไม่ไปรับเชื้ออื่นๆอย่างไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้อตัวอื่น
- เว้นระยะห่างจากคนในบ้าน 1-2 เมตร รวมถึงตอนรับประทานอาหาร อาจจะแยกอาหารออกมา แยกกันทานอาหาร
- แยกห้องนอน
- ไม่ใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหาร และเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ
- แยกซักเสื้อผ้า ด้วยผงซักฟอกปกติ
- ทำความสะอาดบริเวณที่ใช้ร่วมกันบ่อยๆ
- ผู้ป่วยควรพยายามไม่นำตัวเองไปเสี่ยงรับเชื้อไวรัสใหม่ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ เข้าสู่ร่างกายอีก
- ขยะทิ้งได้ปกติ แต่แยกทิ้งขยะที่มีน้ำมูก หรือน้ำลายอยู่ เช่น หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว โดยใส่ถุงแยกสองชั้น
- ผู้ป่วยที่เพิ่งหาย เน้นสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงคนในครอบครัวที่จำเป็นต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยด้วยก็แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย
- ลดการสัมผัสบริเวณที่แตะบ่อยๆ เช่นลูกบิดประตู การสัมผัสต่างๆ รวมถึงการใช้มือสัมผัสใบหน้า จมูก ปาก
- ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
สำหรับคนในชุมชนต้องบอกว่า โอกาสที่ได้รับเชื้อจากผู้ป่วยที่หายแล้ว แทบไม่มีเลย เนื่องจากเชื้อจะติดจากการส่งต่อติดผ่าน เชื้อไม่สามารถกระโดดข้ามรั้วข้ามบ้านไปติดได้
VV
V