เส้นเลือดขอด อันตรายมากกว่าแค่ขาไม่สวย! เรื่องนี้ไม่ใช่เล็กๆ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอด
1.เส้นเลือดขอดมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จากการศึกษาของนักวิจัยพบว่า อาจมีสาเหตุจาก ฮอร์โมนของเพศหญิงที่ทำให้ผนังหลอดเลือดคลายตัวลง ส่งผลให้มีโอกาสเกิดการรั่วของลิ้นหลอดเลือดได้มากกว่าเพศชาย
2.เส้นเลือดขอดมักพบในผู้ที่เป็นโรคอ้วน และผู้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนและน้ำหนักตัวที่มาก ส่งผลให้เลือดหมุนเวียนได้ไม่สะดวก เกิดการคั่งของเลือดโดยเฉพาะบริเวณขา
3.ผู้ที่ทำอาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งนาน ๆ หรือผู้ที่ชอบนั่งไขว่ห้าง
4.ผู้ที่ต้องใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน
65กรรมพันธุ์ จากการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่มีครอบครัวมีประวัติเป็นเส้นเลือดขอดมาก่อน จะมีความเสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอดสูงกว่าคนทั่วไป
6.ขาดการออกกำลังกาย ทำให้เลือดไหวเวียนไม่สะดวก
7.เส้นเลือดขอดมักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะวัยสูงอายุ ยิ่งอายุมากก็ยิ่งเสี่ยงสูง เนื่องจากความยืดหยุ่น และความแข็งแรงของลิ้นหลอดเลือดลดน้อยลง
1.เส้นเลือดขอดแบบฝอย จะเห็นได้ว่าแตกเป็นเส้นเล็ก ๆ มีสีแดงหรือม่วง ในระยะนี้ผู้ที่เป็นมักจะไม่มีอาการอะไรเลย แต่อาจจะมีอาการปวดขา ปวดกล้ามเนื้อ หรือเป็นตะคริวในตอนกลางคืน
2.เส้นเลือดขอดขนาดกลาง จะเริ่มเห็นเส้นเลือดโป่งพองออกมา แต่ไม่มากเท่าไหร่ ในระยะนี้ผู้ที่เป็นจะมีอาการปวดบวมที่ขาและเท้า รู้สึกร้อนบริเวณขาส่วนล่าง
3.เส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ ระยะนี้จะเห็นเส้นเลือดโป่งพองนูนออกมาเป็นขด ๆ อย่างชัดเจน มีสีเขียวผสมม่วง ผู้ที่เป็นจะมีการเจ็บปวดบริเวณเส้นเลือดที่ขอด มีการอักเสบของผิวหนัง อาจจะมีสีคล้ำกว่าบริเวณอื่น หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา เส้นเลือดอาจจะแตกจนเป็นแผล และหากเกิดโรคแทรกซ้อนอีก อาจจะต้องสูญเสียขา หรืออาจเสียชีวิตได้
เส้นเลือดขอดไม่ได้เกิดขึ้นได้แค่ที่ขาเท่านั้นนะคะ สามารถเกิดกับอวัยวะส่วนอื่นได้ด้วย แม้แต่อวัยวะภายในก็เกิดได้เช่นกัน เช่น เส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร เกิดจากพังผืดในตับ ดึงรั้งทำให้เกิดความดันเลือดในตับ และในหลอดอาหารสูงขึ้น จนเกิดเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร หากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารแตกจะทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเป็นเลือด อาจถึงช็อกและเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังมีเส้นเลือดขอดที่ทวารหนัก (โรคริดสีดวง) เส้นเลือดขอดในมดลูก เป็นต้น
1.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
2.ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้เกินค่า BMI
3.สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ อาการเส้นเลือดขอดจะค่อย ๆ หายไปเอง หลังจากคลอด 3 - 12 เดือน
4.หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนาน ๆ พยายามเปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ ขยับแขนหรือขา จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
5.หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง
6.เลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน ควรใช้เป็นรองเท้าส้นเตี้ยหรือรองเท้าเพื่อสุขภาพ จะช่วยลดเส้นเลือดขอดลงได้
การรักษาเส้นเลือดขอด สำหรับผู้ที่เป็นในระยะแรก ๆ นอกจากจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตแล้ว ยังสามารถบริหารร่างกายควบคู่ไปด้วย จะช่วยให้เส้นเลือดขอดหายได้ง่ายขึ้น ถ้าทำเป็นประจำ เส้นเลือดขอดจะไม่กลับมาหาอีกแน่นอนค่ะ ดังนั้น บทความนี้มีท่าบริหารเส้นเลือดขอดง่าย ๆ 4 ท่ามานำเสนอค่ะ
1.กระดกข้อเท้า ขึ้นและลง ทำเช่นนี้ติดต่อกัน 20 ครั้ง เพื่อเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อ และช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
2.หมุนข้อเท้า เป็นวงกลม วนขวา 10 ครั้ง และวนซ้ายอีก 10 ครั้ง
3.กระดกข้อเท้าขึ้นแล้วงอเข่า จากนั้นเหยียดเข่าออก พร้อมถีบปลายเท้าลง ทำเช่นนี้ติดต่อกัน 20 ครั้ง
4.ยืนเขย่งเท้าขึ้น สลับกับยืนด้วยส้นเท้า ทำสลับกัน 20 ครั้ง
วิธีข้างต้นควรทำติดต่อกันนาน 10-15 นาที สามารถทำได้ทุกวัน แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้เป็นเส้นเลือดขอดก็สามารถนำไปใช้ได้ จะช่วยป้องกันเส้นเลือดขอด และทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นค่ะ
ถ้าระหว่างบริหารมีอาการปวดขา ให้หยุดพักก่อน และค่อยเริ่มทำใหม่ได้ค่ะ เป็นวิธีที่ง่ายและดีขนาดนี้ อย่าลืมที่จะดูแลตัวเองทุกวันนะคะ
เส้นเลือดขอด นอกจากจะทำให้เกิดความไม่สวยงามบนร่างกายแล้ว หากเราเลือกที่จะมองข้ามแล้วปล่อยไป อาจจะทำให้อาการแย่ลง จนเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิตได้นะคะ ดังนั้น หากมีอาการเส้นเลือดขอดให้เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อไม่ให้อาการเหล่านี้ร้ายแรงขึ้น แต่หากมีอาการเจ็บปวดให้รีบไปพบแพทย์ทันที ก่อนที่จะสายไปนะคะ