ทำไม โรคซึมเศร้า เป็นหนึ่งประเด็นด้านสุขภาพจิตที่คนไทยพูดถึงมากที่สุดในปี 2562


ทำไม โรคซึมเศร้า เป็นหนึ่งประเด็นด้านสุขภาพจิตที่คนไทยพูดถึงมากที่สุดในปี 2562

ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา "โรคซึมเศร้า" ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่พูดถึงเป็นอย่างแพร่หลายทั้งผ่านสื่อกระแสหลักและสังคมออนไลน์ เนื่องจากเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยภัยเงียบนี้ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา การรายงานข่าวการฆ่าตัวตายของนักศึกษาจำนวนมากตามหน้าหนังสือพิมพ์กลายเป็นตัวจุดประเด็นให้สังคมหันมาให้ความสนใจกับโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ข่าวการเสียชีวิตของบุคคลดังหลายคนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีสาเหตุมาจากภาวะซึมเศร้า อาทิ "ภูมิภาฑิต นิตยารส" หรือ "เหม" นักแสดงชื่อดังของไทย "เคท สเปด" ดีไซเนอร์ชื่อดังในสหรัฐฯ "ซอลลี่" หรือ "ชเว จิน-รี" ศิลปินนักร้องสมาชิกวง f(x) เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังจากเกาหลี ขณะที่จัสติน บีเบอร์ นักร้องชื่อดังก็ออกมายอมรับว่าเคยเป็นโรคซึมเศร้า ก็ยิ่งทำให้เรื่องนี้กลายเป็นที่พูดถึงในสังคมตลอดปีนี้

บีบีซีไทย รวบรวมเรื่องราวและข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ โรคซึมเศร้า เพื่ออธิบายว่า ทำไมเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นด้านสุขภาพจิตที่คนไทยพูดถึงมากที่สุดในปี 2562



โรคซึมเศร้านำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

แม้ว่าจากการประมาณการสาเหตุของการฆ่าตัวตายโดย นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต ผ่านสื่อมวลชนว่า ในจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ สาเหตุที่เกิดจากภาวะซึมเศร้ามีเพียง 10% เท่านั้น ในขณะที่ 90% ซึ่งถือเป็นส่วนใหญ่มาจากปัญหาด้านความสัมพันธ์

ทว่า ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โรคซึมเศร้า ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ "การฆ่าตัวตาย" ได้ โดยในปีที่ผ่านมา คนไทยพยายามฆ่าตัวตายชั่วโมงละ 6 คน หรือทั้งปีมากกว่า 53,000 คนและเสียชีวิตราว 4,000 คน ถือเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของไทย

ทำไมภาวะซึมเศร้านำไปสู่การฆ่าตัวตายได้อย่างไร

ข้อมูลจากเฟซบุ๊กแฟนเพจของศูนย์ความรู้เทคโนโลยีโรคซึมเศร้า ระบุว่า มีหลายทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับและอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างโรคซึมเศร้ากับการฆ่าตัวตาย ในจำนวนนั้นคือ แนวคิดของทฤษฎีสัมพันธภาพระหว่างบุคคลของการฆ่าตัวตาย (Interpersonal Theory of Suicide) โดย แวน โอเดน (Van Orden) และคณะ โดยสามารถสรุปได้ 4 ประการ



- การไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ความรู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ค่า และการรับรู้ว่าตนเป็นภาระ เป็น สาเหตุที่สำคัญและมากพอที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย

- เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว คิดว่าตนเป็นภาระของคนอื่น อย่างถาวร โดยไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้าหมดหวังต่อสถานการณ์ และเป็นสาเหตุที่มากเพียงพอที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความต้องการที่จะฆ่าตัวตายโดยเร็ว

- เมื่อเกิดความต้องการอยากจะฆ่าตัวตายร่วมกับความรู้สึกไม่กลัวตาย เป็นเงื่อนไขเพียงพอที่จะทำให้เกิด ความตั้งใจในการฆ่าตัวตาย

- ความโดดเดี่ยวรับรู้ว่าตนเองหมดหวัง ทำให้กลัวตายน้อยลงและเพิ่มความทนต่อการกลัวบาดเจ็บมากขึ้น จนเกิดผลตามมาคือพยายามฆ่าตัวตายจนเกือบตาย และฆ่าตัวตายได้สำเร็จในที่สุด


จากคำอธิบายดังกล่าว เมื่อพิจารณากับรายงานข่าวผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้กรมสุขภาพจิตออกมาแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายแบบรมควัน ที่ได้มีการเผยแพร่ทางสื่อสารมวลชน ที่อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังเสพข่าวที่บรรยายถึงวิธีการโดยละเอียดจากสื่อซ้ำบ่อยๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสัดส่วนมากน้อยตามระยะเวลา ความถี่ และปริมาณข่าวที่ได้รับด้วย

โรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

ตลอดปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขถือว่าให้ความสำคัญกับ "ภาวะซึมเศร้า" ให้เป็นหนึ่งในประเด็นด้านสุขภาพที่สำคัญ โดยในวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านม่า นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันที่ 10 ตุลาคม ทุกปี องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เป็นวันสุขภาพจิตโลก โดยในปีนี้ เน้นเรื่อง "ภาวะซึมเศร้า" ซึ่งเป็นภัยเงียบของสุขภาพ เป็นได้ทุกวัย หากไม่ได้รับการแก้ไขจะมีผลกระทบรุนแรง ทำงานหรือเรียนหนังสือไม่ได้ กลายเป็นภาระการดูแลรักษาอันดับ 1 ของทั่วโลก ในอีก 18 ปี ข้างหน้า



สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขคือ พบว่าผู้หญิงป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย ในขณะที่จำนวนนี้ สามารถเข้าถึงบริการรักษาเพียง 1 ใน 10 ส่วนในไทย นอกจากนี้ ข้อมูลของศูนย์โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต ยังระบุว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน แต่สังคมไทยยังให้ความสำคัญโรคนี้น้อย ส่วนใหญ่เข้าใจว่า ผู้ป่วยโรคนี้เป็นคนบ้า และผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 100 คน เข้าถึงบริการได้รับการวินิจฉัยและรักษา 28 คนเท่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุถึงร้อยละ 70 ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เพราะผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง จะจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไป ถึง 20 เท่า

อะไรคือทางออกและการป้องกัน

ในปีที่ผ่านมา บีบีซีไทยได้รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โรคซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการเสนอแนะวิธีการป้องกันและทางออก ทีมงานประมวลมาอีกครั้ง

สำหรับวิธีการรักษาโรคซึมเศร้ามีหลากหลายแบบ แต่ก่อนที่จะเข้าไปสู่วิธีการรักษา สิ่งแรกที่จะต้องทำคือการประเมินตัวเองก่อน ว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ วิธีการง่าย ๆ คือ การทำแบบประเมินของกรมสุขภาพจิต โดยตอบคำถาม 9 ข้อเท่านั้น (คลิกเพื่อเข้าสู่แบบประเมิน)

หากพบว่าตัวเองเป็นหรือมีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าจะต้องทำอย่างไร กรมสุขภาพจิตได้เสนอแนะวิธีการแก้ไขและรักษาไว้ 2 ระดับคือ



1) ระดับบุคคล

ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เช่น กินยาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดอาการซึมเศร้า และหากขจัดสาเหตุได้ก็จะช่วยให้หายขาดจากโรคได้
ควรสังเกตอาการตัวเอง และให้กำลังใจตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็น เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ถูกทำลาย ระบบร่างกายแปรปรวนและในที่สุดอาจจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้
การออกกำลังกายก็สามารถช่วยได้ โดยควรออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์


2) ระดับครอบครัวและบุคคลรอบข้าง

ความสัมพันธ์และการสื่อสารเชิงบวกของคนในครอบครัว ในโรงเรียน หรือที่ทำงาน ถือเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ที่สำคัญการยอมรับและการเป็นผู้ฟังที่ดีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้คนรอบข้างจะต้องคิดบวกอยู่เสมอ ไม่ใช่จับผิดอยู่ตลอดเวลา ให้คำชื่นชมทุกครั้งในสิ่งที่ดี ๆ หรือแม้แต่ความสำเร็จเพียงเล็กน้อย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาสะสมความภูมิใจในตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


หากมีคนมาขอคำปรึกษา ควรรับฟังสิ่งที่เขาพูดอย่างตั้งใจ มีผลการศึกษายืนยันว่า การที่มีผู้ฟังปัญหาอย่างตั้งใจจะช่วยลดการฆ่าตัวตายสำเร็จได้ถึง 50%
หากิจกรรมที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิต หรือกิจกรรมที่ทุกคนในครอบครัวสามารถทำได้ร่วมกัน



เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี BBC NEWS


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์