รู้หรือไม่!? กินยาไม่ค่อยได้ผล อาจเพราะแบคทีเรียในลำไส้แย่งกินด้วย
หน้าแรกTeeNee รวมเรื่องสุขภาพดีๆ ข่าวสุขภาพและสุขภาพทั่วไป รู้หรือไม่!? กินยาไม่ค่อยได้ผล อาจเพราะแบคทีเรียในลำไส้แย่งกินด้วย
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ (UCSF) ตีพิมพ์รายงานการค้นพบดังกล่าวในวารสาร Science โดยระบุว่าระบบชีวนิเวศจุลชีพ (Microbiome) หรือการดำรงอยู่ร่วมกันของจุลินทรีย์หลากหลายชนิดในร่างกายของคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดที่อาศัยอยู่ในลำไส้ สามารถจะส่งผลแทรกแซงต่อกระบวนการย่อยและดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายได้ โดยอาจทำให้ยาเข้าไม่ถึงอวัยวะเป้าหมาย มีประสิทธิภาพลดลง หรือแม้กระทั่งทำให้เกิดภาวะเป็นพิษขึ้นมาอย่างกะทันหัน
มีการค้นพบหลักฐานที่ยืนยันถึงกรณีนี้ครั้งแรกกับยาเลโวโดปา (Levodopa) ยารักษาโรคพาร์กินสันซึ่งทำหน้าที่นำฮอร์โมนโดพามีนเข้าสู่เซลล์ประสาทในสมอง เพื่อบรรเทาอาการกล้ามเนื้อแข็งและสั่นรวมทั้งปัญหาการทรงตัว โดยที่ผ่านมาพบว่ายาชนิดนี้ถูกดูดซึมเข้าสู่สมองได้เพียง 1-5% ของปริมาณที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าไปเท่านั้น
แม้จะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของยาเลโวโดปาให้ดีขึ้น โดยสามารถต้านทานการย่อยสลายของเอนไซม์ในทางเดินอาหารได้มากขึ้น แต่ยาก็ยังคงใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยหลายราย ส่วนการกินยาในปริมาณที่เพิ่มขึ้นก็เสี่ยงต่อผลข้างเคียงเช่นทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
ด้วยเหตุนี้ทีมผู้วิจัยจึงหันมาให้ความสนใจต่อบทบาทของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งก็พบว่าแบคทีเรียหลายชนิดมีหน่วยพันธุกรรมหรือยีนที่สามารถผลิตเอนไซม์ย่อยสลายยาเลโวโดปาได้ แต่มีแบคทีเรียอยู่สายพันธุ์เดียวคือ Enterococcus faecalis (E. faecalis) ที่จะกินยาชนิดนี้จนหมดทุกครั้ง
ผลของการค้นพบดังกล่าว ทำให้ทีมผู้วิจัยสามารถระบุตัวโมเลกุลที่สามารถยับยั้งเอนไซม์จากแบคทีเรีย E. faecalis ได้ ซึ่งโมเลกุลนี้เป็นความหวังในการพัฒนายาเลโวโดปาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังค้นพบว่ามีแบคทีเรียชื่อ Eggerthella lenta จะคอยกินสารโดพามีนที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายยาเลโวโดปาของแบคทีเรีย E. faecalis อีกทอดหนึ่ง ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้เกิดสารพิษขึ้น ทำให้ทีมผู้วิจัยยังคงต้องคิดแก้ปัญหาอันซับซ้อนว่าด้วยผลกระทบของจุลินทรีย์ที่มีต่อประสิทธิภาพของยานี้ต่อไป