อย่าชะล่าใจ เล่นกีฬา-ใส่ส้นสูง ระวังข้อเท้าแพลงเลือดคั่ง!
ในวันนี้เราก็เลยจะมาคุยกันว่า ถ้าหากเท้าแพลงแต่ปล่อยไว้โดยไม่รักษา จะมีอาการรุนแรงและอันตรายอย่างไร?
สำหรับการป้องกันสามารถทำได้โดยสวมรองเท้าให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูง ส่วนใครที่ชื่นชอบเล่นกีฬาควรสวมรองเท้าให้ถูกต้องตามชนิดของกีฬา หลีกเลียงการเดิน วิ่ง หรือกระโดดบนพื้นที่ไม่เหมาะสม และออกกำลังกายข้อเท้าเป็นประจำสัปดาห์ละ 3-4 วัน
อาการข้อเท้าแพลงสามารถแบ่งตามความรุนแรงได้ 3 ระดับดังนี้
1.ข้อเท้าแพลงชนิดไม่รุนแรง : มีอาการปวด บวม เล็กน้อย
2.ข้อเท้าแพลงชนิดปานกลาง : มีการฉีกขาดของเอ็นบางส่วน ทำให้มีอาการปวม บวม เฉพาะที่และอาจมีเลือดคั่ง
3.ข้อเท้าแพลงชนิดรุนแรง : มีการฉีกขาดของเอ็นข้อเท้าทางด้านนอกทั้งหมด ทำให้ข้อเท้าสูญเสียความมั่นคง เดินลงน้ำหนักไม่ได้ ปวด บวมมากและมีเลือดคั่ง อาจต้องผ่าตัด
ส่วนเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับข้อเท้าแพลง นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผอ.รพ.เลิดสิน ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ทำได้โดยป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น หยุดกิจกรรมที่ทำอยู่แล้วใช้น้ำแข็งห่อด้วยผ้าประคบประมาณ 15-20 นาทีวันละ 3-5 ครั้ง และพักการใช้งานข้อเท้าที่ได้รับบาดเจ็บประมาณ 2-3 วันเพื่อลดการอักเสบ ใช้สนับข้อเท้า หรือพันผ้าบริเวณที่บวม เพื่อช่วยป้องกันและจำกัดการเคลื่อนไหวรวมถึงลดอาการบวม โดยผ้าต้องมีความยืดหยุ่นที่เหมาะสม ไม่รัด ตึงจนเกินไป และควรปลดผ้าพันออกเมื่อจะเข้านอน นอนยกข้อเท้าให้อยู่ในระดับสูงกว่าระดับหัวใจ หรืออาจนำหมอนมาหนุนที่ข้อเท้าเพื่อช่วยลดอาการบวม
ที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยง "การประคบร้อน" เพราะความร้อนจะทำให้เลือดไหลเวียนไปยังบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บมากขึ้น ห้ามนวดเพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไปบริเวณนั้นมากขึ้นและเพิ่มอาการบวม ห้ามวิ่งหรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องออกแรงมาก เพราะจะยิ่งทำให้อาการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น ห้ามดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้เลือดไหลเวียนมากขึ้นและเพิ่มอาการบวม
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากปฏิบัติตามขั้นตอนที่คุณหมอแนะนำข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่ามีอาการรุนแรงที่อาจเกิดกับกระดูกหรือเนื้อเยื่อส่วนอื่นได้