รู้จักวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
วัคซีนนี้ผลิตจากโปรตีนที่เปลือกหุ้มเชื้อไวรัสซึ่งไม่ใช่โปรตีนที่ทำให้เกิดมะเร็ง ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดโรคจากการฉีดวัคซีน ในวัคซีนจะมีการใส่สารเสริมการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงและอยู่ในกระแสเลือดได้นาน
จะต้องฉีดทั้งหมดกี่เข็ม
ตามคำแนะนำของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ฉีดสามเข็มคือ เข็มที่สองและเข็มที่สามห่างจากเข็มแรก สองและสี่เดือนตามลำดับ ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิได้เต็มที่เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV
ครั้งที่1 ให้ฉีดตามที่กำหนด
ครั้งที่2 ห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน
ครั้งที่3 ห่างจากเข็มแรกประมาณ 6 เดือน
ปัจจุบันนี้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก มี 2 ชนิด คือ Quadrivalent vaccine (ชนิดไวรัส 4 สายพันธุ์ คือ 6, 11, 16 และ 18) และ Bivalent vaccine (ชนิดไวรัส 2 สายพันธุ์ คือ 16 และ 18) สำหรับการเลือกวัคซีนเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกสามารถเลือกใช้ได้ทั้งสองชนิด ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ18 ได้ประมาณร้อยละ 90-100 ในผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อแล้ววัคซีนไม่สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคได้
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกอันตรายหรือ
ไม่ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกไปแล้วประมาณ 16 ล้านเข็ม มักจะมีอาการเจ็บบริเวณที่ฉีดเล็กน้อย ไข้ต่ำ ๆ เหมือนคนเป็นหวัด เวียนศีรษะเล็กน้อย ผลข้างเคียงรุนแรงพบได้น้อย
ไขข้อข้องใจ ฉีดVSไม่ฉีด วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
พญ.สุนีย์ ศักดิ์ศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช โรงพยาบาลวิภาวดี ให้คำตอบเพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการฉีดมะเร็งปากมดลูก ดังนี้
1. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุเท่าไร
คำตอบ การฉีดวัคซีน HPV จะได้ประโยชน์สูงที่สุดถ้าฉีดก่อนที่จะติดเชื้อ HPV หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพราะการติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อ HPV อยู่ ซึ่งผู้ชายจะไม่มีอาการผิดปกติ การฉีดวัคซีน HPV สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป ในต่างประเทศจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนในช่วงอายุ 12-14 ปี ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 1. ส่วนใหญ่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ 2. ยังไม่ติดเชื้อ HPV และ3. วัคซีนสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าในผู้ใหญ่
2. ยังไม่มีแฟนจำเป็นต้องฉีดวัคซีนวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือไม่
คำตอบ การฉีดวัคซีนตั้งแต่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์หรือยังไม่มีการติดเชื้อ จะได้ประโยชน์มากกว่า ข้อมูลทางการแพทย์ล่าสุด พบว่า วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกบางชนิดสามารถป้องกันได้มากกว่า 90 % ในผู้หญิงที่ยังไม่เคยติดเชื้อและฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่อายุยังน้อย จะทำให้มีภูมิคุ้มกันสูงกว่าและอยู่ได้นานกว่าฉีดตอนที่อายุมากขึ้น ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่อายุยังน้อยและยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
3. ก่อนฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก่อนหรือไม่
คำตอบ สามารถฉีดได้เลยค่ะ ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องตรวจภายในเพื่อหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกก่อน เพราะการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเป็นการป้องกันการติดเชื้อในอนาคต ส่วนการตรวจภายในเป็นการหาเซลล์ที่ผิดปกติที่เกิดจากการติดเชื้อมาก่อน แต่ถ้าได้ทำควบคู่กันไปก็จะดีที่สุดค่ะ
4. หากเคยมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีดป้องกันมะเร็งปากมดลูกใช่หรือไม่
คำตอบ เป็นการเข้าใจผิดมากที่สุด เพราะเชื้อ HPV ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมีหลายสายพันธุ์ ที่พบได้บ่อย คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 วัคซีนบางชนิดมีการเสริมสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันทำให้สามารถป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็งอื่น แม้เราจะมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็อาจจะยังไม่เคยติดเชื้อ HPV หรือหากติดเชื้อมาแล้วก็ยังได้ประโยชน์จากวัคซีนจากวัคซีนเนื่องจากยังสามารถป้องกันสายพันธุ์อื่นที่ยังไม่เคยติดได้
5. ถ้าตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้หรือไม่
คำตอบ ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนในขณะตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการฉีดวัคซีน HPV ให้ครบ 3 เข็ม ควรคุมกำเนิดไว้ก่อนจนถึงหลังฉีดเข็มที่ 3 ไปนานอย่างน้อย 1 เดือน หากพบว่าตั้งครรภ์ขณะกำลังได้รับวัคซีนแต่ยังฉีดไม่ครบ ให้ฉีดวัคซีนเข็มที่เหลือต่อในช่วงหลังคลอด
6. ฉีดแล้วไม่ต้องมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอีกใช่ไหม
คำตอบ การฉีดวัคซีน HPV ไม่สามารถใช้ทดแทนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ทั้งหมด ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องมารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่ตามที่หมอนัด ทั้งนี้เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจจะเกิดจากเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่นที่ไม่ได้มีอยู่ในวัคซีน การฉีดวัคซีน HPV ควบคู่กับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอจะทำให้การป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นไปอีก
7. วัคซีนนี้จะป้องกันมะเร็งได้ทุกชนิดหรือไม่
คำตอบ เนื่องจากวัคซีนนี้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ทุกชนิด ดังนั้น จึงไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ทั้งหมด คือ จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ 70% และไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
8. ถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะดูแลตนเองอย่างไร
คำตอบ ไม่เป็นไรถึงแม้ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเพราะโรคมะเร็งปากมดลูกมีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ ผู้หญิงทุกคนจึงควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ โดยเริ่มเมื่ออายุ 21 ปีหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกแล้วอย่างน้อย 3 ปีขึ้น หลังจากนั้นความถี่ในการตรวจคัดกรองฯขึ้นกับคำแนะนำของคุณหมอ นอกจากนั้น การติดเชื้อไวรัสเอชพีวีเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การให้ฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัยชายในการมีเพศสัมพันธ์ จึงเป็นอีกวิธีลดโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ ทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีและไวรัสเอชไอวี/HIV (โรคเอดส์) ด้วย
คุณหมอไขข้อข้องใจเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกกันไปแล้วนะคะ อย่างน้อยก็เป็นข้อมูลเพื่อนำไปพิจารณาว่าควรไปฉีดหรือไม่หรือตัวเราเองมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ทางที่ดีควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อขอคำแนะนำวิธีที่เหมาะสมจะดีที่สุดค่ะ
ที่มา : TheAsianParent Thailand