ปวดท้องน้อย...อย่าชะล่าใจ! อาจเป็นสัญญาณเตือนจากโรคเหล่านี้
อาการปวดท้องน้อย เป็นอาการปวดตั้งแต่บริเวณใต้สะดือลงไปจนถึงหัวหน่าว เป็นอาการที่ผู้หญิงหลายคนมักจะมองข้ามอยู่บ่อยครั้ง เพราะคิดว่าเป็นอาการปวดท้องทั่วๆ ไป คล้ายกับการปวดประจำเดือนที่ไม่นานก็หาย แต่แท้จริงแล้วอาการปวดท้องน้อยอาจจะเกี่ยวข้องกับ 4 ระบบภายในร่างกาย ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติภายในระบบสืบพันธุ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบลำไส้ และระบบกล้ามเนื้อด้วยเช่นกัน
ปวดท้องน้อย...อาจเป็นสัญญาณเตือนจากโรคเหล่านี้!1.โรคที่เกิดในระบบสืบพันธุ์
โรคที่พบได้บ่อยในระบบนี้ ได้แก่ โรคเนื้องอกมดลูก (myoma) และโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ในกลุ่มนี้จะมีอาการปวดประจำเดือนมาก ประจำเดือนมามาก มีลักษณะเป็นลิ่มเลือดหรือเป็นก้อน เวลาปวดจะปวดประจำเดือนและมักปวดร้าวไปทั้งหลัง ก้น จนถึงขา
ซึ่งในกลุ่มนี้หากมีอาการปวดท้องน้อย แพทย์จะต้องซักประวัติว่าก่อนว่าเคยมีประวัติโรคเกี่ยวกับมดลูกหรือรังไข่หรือไม่ เพราะโดยส่วนใหญ่มักจะมีอาการสัมพันธ์กับรอบเดือน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้องน้อย มีเลือดออกผิดปกติ มีปริมาณประจำเดือนมากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก ฯลฯ
2.โรคที่เกิดในระบบทางเดินปัสสาวะโรคที่พบได้บ่อยในระบบนี้ ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, ท่อปัสสาวะอักเสบ, นิ่ว, กรวยไตอักเสบ เป็นต้น มักจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับปัสสาวะสามารถที่สังเกตได้ทันที เช่น รู้สึกแสบขัดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่สุด และปวดท้องน้อยร่วมด้วย หรือสีของน้ำปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด มีฟอง สีขุ่น
3.โรคที่เกิดในระบบลำไส้
โรคที่พบได้บ่อยในระบบนี้ ได้แก่ โรคลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ ติดเชื้อทางเดินอาหาร หรือโรคลำไส้แปรปรวน ซึ่งในกลุ่มนี้มักมีความผิดปกติที่ทางเดินอาหารหรือสำไส้ คนไข้จึงมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด หรือถ่ายเหลว ร่วมด้วย
4.โรคที่เกิดในระบบกล้ามเนื้อ
โรคที่พบได้บ่อยในระบบนี้ ได้แก่ กล้ามเนื้ออักเสบ มักพบว่าเป็นไปตามประวัติการใช้งานของคนไข้ อาการคือปวดบริเวณหน้าท้อง ท้องน้อย ไปจนถึงหัวหน่าว คนไข้ที่ปวดบริเวณนี้มักจะมีประวัติยกของหนัก หรือเกร็งกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกายอย่างหนัก
ไม่อยากปวดท้องน้อย...คุณก็ป้องกันได้!
สำหรับคุณผู้หญิงที่ปวดท้องประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ อาจป้องกันไม่ให้มีอาการปวดรุนแรงได้ โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรู้จักผ่อนคลายความเครียดเพื่อให้ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งในขณะมีประจำเดือนควรทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เพื่อไม่ให้ลำไส้เกิดการบีบรัดเกินไป จะช่วยทุเลาอาการปวดท้องน้อยได้
สำหรับอาการปวดท้องน้อยจากสาเหตุอื่น สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย และควบคุมอาหาร รวมถึงมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความผิดปกติต่างๆ อันเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องน้อยได้
สิ่งที่สำคัญ! คือผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรตรวจภายในเป็นประจำทุกปี ส่วนในกลุ่มที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ควรตรวจภายในปีละครั้งเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี หากตรวจติดต่อกัน 3 ปีแล้วไม่พบความผิดปกติก็สามารถตรวจเว้นปีได้
ปวดท้องน้อยจากเนื้องอกมดลูกหรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ รักษาได้ด้วยวิธีนี้...1.รักษาด้วยการให้ยา มีทั้งยาทานและยาฉีด ยาทั่วไปที่แพทย์มักจะใช้ในการรักษาโรคปวดท้องน้อยก็คือ ยาลดปวด ยาคุมกำเนิด และยาฮอร์โมนชนิดอื่นๆ
2.รักษาด้วยการผ่าตัด หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง และมีสาเหตุของโรคที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, มีเนื้องอกขึ้นตามอวัยวะต่าง ๆ ที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม แพทย์จะทำการวินิจฉัยอีกทีว่าควรรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่
โดยการผ่าตัดทำได้ 2 วิธีคือ ผ่าตัดผ่านกล้องซึ่งมีข้อดีคือมีแผลเล็ก ฟื้นตัวได้เร็ว และคนไข้ไม่เจ็บตัวมาก และการผ่าตัดเปิดหน้าท้องที่คนไข้จะต้องพักฟื้นนานกว่า แต่ก็มีข้อดีคือค่าใช้จ่ายถูกกว่า
การรักษาจะมีประสิทธิภาพดีหรือไม่ดี ล้วนขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ป่วยร่วมด้วย หากผู้ป่วยสามารถจดจำรายละเอียด หรือให้ข้อมูลในขณะปวดท้องได้อย่างชัดเจน ย่อมมีโอกาสที่แพทย์จะหาสาเหตุให้ตรงกับโรคที่เป็นอยู่ได้มากยิ่งขึ้น
เพราะอาการปวดท้องน้อย...อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่กำลังบอกว่าระบบการทำงานของอวัยวะที่อยู่ในหรือใกล้กับท้องน้อยของเรากำลังมีปัญหา ดังนั้น คุณผู้หญิงไม่ควรชะล่าใจ หากสังเกตพบความผิดปกติจำเป็นต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาตามสาเหตุของโรค ความรุนแรงและอายุของผู้ป่วย