โรคSLEจากพุ่มพวงดวงจันทร์ถึงเซลีน่าโกเมซ

ไม่นานมานี้ เราคงเคยได้อ่านข่าวคราวของสาวน้อยเสียงใส Selena Gomez ที่ได้ออกมาบอกว่า ตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับโรคลูปัสอยู่และกำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) อยู่ เป็นเหตุผลให้เจ้าตัว ต้องงดงานแสดง ทัวร์คอนเสิร์ตต่าง ๆ ออกไปเป็นเวลาเกือบ 2 ปี (2013 - 2015) และเพิ่งจะได้หวลกลับมามีผลงาน single ใหม่ (Good for you) ให้เราได้ฟังกันไม่นานมานี้ ข่าวดังกล่าว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวที่ช็อควงการเพลงมาก เพราะ Selena Gomez เพิ่งจะอายุ 23 ปีเอง และกำลังมีชื่อเสียงโด่งดังด้วย กลับต้องมาเผชิญหน้ากับโรคร้ายอย่าง SLE วันนี้หมอหล่อคอเล่า จึงนำเอาเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับโรคลูปัส หรือ SLE มาเล่าให้ฟังกันครับ

SLE หรือ Systemic Lupus Erythematosus หรือ ที่คนไทยเรารู้จักกันดีในชื่อ #โรคพุ่มพวง เนื่องมาจากเป็นโรคที่คร่าชีวิตของราชินีลูกทุ่งสาวไปในวัยเพียง 30 ปีเท่านั้น ทำให้ SLE ถูกจดจำในชื่อ โรคพุ่มพวงมาตั้งแต่บัดนั้น

โรค SLE หรือบางทีเราเรียกสั้น ๆ ว่า ลูปัส (Lupus) เป็นในกลุ่ม #โรคภูมิแพ้ตนเอง หรือ #โรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease) ชนิดหนึ่ง เกิดจากการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทาน (Immune) ที่ทำงานผิดปกติ จนทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย (โดยที่แยกไม่ออกว่าอันไหนเนื้อเยื่อร่างกาย หรือ สิ่งแปลกปลอมจากภายนอก) จนเกิดการอักเสบเรื้อรัง (ชนิดไม่ใช่จากการติดเชื้อ) ขึ้น การอักเสบดังกล่าว พบได้ทุกบริเวณของร่างกาย เช่น ผิวหนัง ข้อ กล้ามเนื้อ ปอด หัวใจ ไต ระบบเลือด ไขกระดูก และ ระบบประสาท จึงจัดเป็นโรคเรื้อรังอีกโรคหนึ่ง ที่ในปัจจุบันยังรักษาไม่หายขาด

SLE มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 7-10 เท่า และมักเกิดในช่วงวัยเจริญพันธุ์ อายุประมาณ 20-30 ปี สาเหตุในตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด เพียงแต่สันนิษฐานว่าอาจจะมาจากหลาย ๆ ปัจจัย ได้แก่ กรรมพันธุ์ (Genetics) ฮอร์โมน (Hormones) และปัจจัยต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว (Environments) เช่น การสูบบุหรี่ การโดนแสงแดดนาน ๆ ซึ่งมีรังสี UV หรือแม้แต่การติดเชื้อไวรัส ชนิด EBV หรือสารพิษ สารเคมีที่เราได้รับเข้ามาในแต่ละวัน เป็นต้น

อาการเริ่มแรกของโรคนี้มีหลากหลายมากครับ แถมยังวินิจฉัยได้ยากอีกด้วย ทำให้กว่าคนไข้จะรู้ว่าตัวเองเป็นก็กินระยะเวลาของโรคไปนานแล้ว การวินิจฉัยโรคนี้ ต้องอาศัยทั้งประวัติ การตรวจร่างกายและผลเลือดต่าง ๆ มากมาย (แพทย์จะมีเกณฑ์การวินิจฉัยที่ชัดเจนอยู่แล้วครับ) แต่ก็มีบางความผิดปกติที่พอจะบอกเราได้ว่า เราอาจจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรค SLE นี้หรือไม่ ? เช่น มีผื่นแดงขึ้นบริเวณหน้าทั้ง 2 ข้าง มีข้ออักเสบหลายตำแหน่ง มีผื่นแดงอักเสบจากการแพ้แสงแดด ดูซีดลง เลือดออกง่ายหรือมีจุดเลือดออกตามตัว หรือแม้แต่มีไข้เรื้อรัง เป็นต้น ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ และเป็นนาน ควรรีบไปหาหมอนะครับ

SLE รักษาไม่หายขาด ในตอนนี้เราทำได้เพียงรักษาให้ตัวโรคสงบและรักษาตามอาการที่เป็นเท่านั้น ยาที่ใช้มีตั้งแต่ ยาในกลุ่มสเตียร์รอยด์ ยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs ยากดภูมิ หรือ ยาเคมีบำบัด เป็นต้น ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรค การรักษาและการดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นอย่างดี อัตราการมีชีวิตรอดในระยะเวลา 10 ปีของโรค SLE อยู่ที่ประมาณ 70 % ดังนั้น หากคนไข้ดูแลตัวเองดี ใช้ชีวิตแบบชะลอโรค ชะลอวัย หมั่นไปตรวจไปพบแพทย์ตามนัด ก็ไม่ต้องกลัวครับว่าโรคนี้จะกำเริบไป รู้แบบนี้แล้ว หมอหล่อคิดว่า เราน่าจะได้ฟังเพลงของสาวน้อย Selena Gomez คนนี้อีกนานครับ ยังไงก็ต้องเป็นกำลังใจให้เธอและให้ผู้ป่วยโรคนี้ทุกคนด้วยครับ





ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจ : หมอหล่อคอเล่า

โรคSLEจากพุ่มพวงดวงจันทร์ถึงเซลีน่าโกเมซ

เครดิต :
แหล่งที่มา: ขอขอบคุณ RS

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์