พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรค “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท”
“หมอนรองกระดูก” มีลักษณะรูปร่างวงกลมแบน มีขอบเป็นพังผืดเหนียว โดยอยู่คั่นกลางระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกให้กระดูกสันหลัง เรียกว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญมากๆ ว่าแล้วเราไปทำความรู้จักโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท พร้อมพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกันค่ะ
ข้อมูลจาก นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า “โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” เป็นโรคที่เกิดจากหมอนรองกระดูกที่อยู่บริเวณกระดูกสันหลังถูกทำลายจนเสียหาย โดยได้รับบาดเจ็บ หรือ กระดูกเสื่อม ส่งผลให้หมอนรองกระดูกแตกและกระดูกอ่อนส่วนที่อยู่ภายในหมอนรองกระดูกโผล่ออกมา หากไม่ได้กดทับเส้นประสาท
โดยผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการปวดเฉพาะที่ เช่น ปวดบริเวณเอวด้านล่างลงมาถึงสะโพกหรือต้นขาด้านหลัง แต่หากกดทับเส้นประสาทผู้ป่วยจะมีอาการปวดขาร่วมกับอาการชา อ่อนแรง หรือเจ็บบริเวณแนวเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว
6 ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
1. มีน้ำหนักตัวมากเกินไป โดยเฉพาะคนอ้วนลงพุง น้ำหนักที่มากจะทำให้หลังแอ่นและกระดูกสันหลังส่วนล่างต้องรับน้ำหนักตลอดเวลา
2. การแบกของหนัก ทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังแทนกล้ามเนื้อขาและต้นขา กระดูกจึงบิดและเคลื่อนได้
3. การใช้งานผิดท่า เช่น การก้มยกของโดยไม่ระมัดระวัง ฉะนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงของโรคจึงควรจัดระเบียบท่าทางร่างกายให้เหมาะ เช่น การก้มยก การนั่ง การขึ้นลงรถยนต์
4. การสูบบุหรี่จัด เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงกระดูกสันหลังได้ไม่ดี ทำให้กระดูกสันหลังสูญเสียความยืดหยุ่นและเสื่อมเร็วกว่าปกติ
5. ขาดการออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อลีบ ฝ่อ มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อหมอนรองกระดูกได้มากขึ้น
6. ความเสื่อมตามวัย และพันธุกรรม เช่น พ่อแม่พี่น้องเป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนอื่น
โดยส่วนใหญ่อาการของโรคนี้จะค่อยๆ ดีขึ้น หากผู้ป่วยได้พักผ่อน ออกกำลังกาย และกินยาบรรเทาอาการของโรค ฉะนั้น หากสงสัยว่ามีอาการป่วยควรรีบไปพบแพทย์ รวมถึงปรับเพื่อลดความเสี่ยงนะคะ
ที่มา healthandtrend
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!