ผศ.นพ.ณวพล กาญจนารัณย์ อาจารย์ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม ประมาณ 20-25 ล้านคน ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และ 8 ล้านคนในจำนวนนี้สูญเสียการมองเห็น เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่ปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้อัตราส่วนผู้ป่วยโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นอันดับ 4 ของโรคที่เป็นสาเหตุของตาบอดในประชากรโลก ซึ่งอาจจะเป็นสถิติที่ไม่สู้ดีเท่าไหร่นัก เพราะถือเป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขไทยที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน
"ปัจจุบันโรคที่เกี่ยวกับสายตาที่คนไทยเป็นมากที่สุดอันดับ คือ โรคต้อกระจก จากเบาหวานขึ้นจอประสาทตา และต้อหินตามลำดับ แต่ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ไทยอาจมีโรคจอประสาทตาเสื่อมขึ้นมาอยู่เป็นอันดับที่ 2-3 แทน" จักษุแพทย์กล่าว และว่า
สำหรับประเภทของโรคจอประสาทตาเสื่อม มีทั้งแบบแห้งและแบบเปียก
แบบแห้ง จะเป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด โดยเกิดจากจุดกลางรับภาพจอประสาทตา ลดน้อยลงหรือเสื่อมสลาย จากกระบวนการเสื่อมตามอายุ ส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นค่อยๆ ลดลง และเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งหากมีอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นเป็นปกติได้ แต่ก็ถือว่ายังมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคต้อกระจกและต้อหิน
และแบบเปียก พบประมาณร้อยละ 15-20 ของโรคจอประสาทตาเสื่อม และมีความรุนแรง เนื่องจากทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดตาบอด แต่ปัจจุบันนอกจากอุบัติการณ์ของโรคนี้จะบ่อยตามอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่นแสงจากคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ช่วยเร่งให้จอประสาทตาเสื่อมก่อนวัยอันควร
สำหรับผู้ที่ต้องการห่างไกลจากโรคดังกล่าว ผศ.นพ.ณวพลแนะนำว่า ควรปฏิบัติตน 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
1.ควรงดสูบบุหรี่ เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดโรค
2.รักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ไม่ให้สูงจนเกินไป
3.รับประทานอาหารมีสารแอนตี้ออกซิแด้นท์ที่มีในผักสีเขียวและเหลือง
4.หาอุปกรณ์ป้องกันหากใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน
และ 5.ผู้ที่มีญาติป่วยเป็นโรคนี้ ควรได้รับการคัดกรองโรค เพราะมีรายงานค้นพบว่าโรคนี้อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ หากพบแนวโน้มการเป็นโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งนอกจากจะนำไปสู่การรักษา ลดการสูญเสีย ลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์แล้วยังเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้