หมอเผยเอง ทำไมแอลกอฮอล์ ถึงทำลาย ‘โนโรไวรัส’ ไม่ได้
กลายเป็นที่พูดถึงกันเป็นอย่างมาก ทำไมแอลกอฮอล์ฆ่าโนโรไวรัสไม่ได้ โดย หมอฆนัท ครุธกูล ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเพจ คุยกับหมอฆนัท เผยว่า "ไวรัส" ที่แอลกอฮอล์ฆ่าไม่ตายสวัสดีวันหยุดสบายๆ ใกล้ๆ ช่วงสิ้นปี อากาศเย็นๆ แบบนี้ครับ
หมอได้อ่านข่าวโรคภัยในช่วงนี้ ก็ได้เห็นความกังวลของหลายๆ คน ที่เกิดขึ้นหลังจากที่กรมควบคุมโรคได้แถลงข่าวถึงโรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ซึ่งเป็นโรคทั่วไปเกิดได้จากการรับเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย
แต่จะพบมากในเด็ก เพราะเด็กมักจะระวังตัวน้อย การดูแลความสะอาด การล้างมืออาจจะน้อยกว่าผู้ใหญ่ ไปจนถึงพบมากในช่วงที่มีเทศกาล เนื่องจากการพบปะสังสรรค์กัน การรับประทานอาหารร่วมกัน การทานอาหารที่ค้างคืน หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ
อาการโดยทั่วไป พบได้บ่อยๆ คือ การถ่ายอุจจาระเหลว หรือเป็นน้ำ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว ส่วนใหญ่โรคอุจจาระร่วงมักจะหายเองภายใน 2-3 วัน
แต่ที่สร้างความแตกตื่นในตอนนี้ คือ การตรวจพบเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) ในต่างประเทศ ซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเชื้อไวรัสชนิดใหม่ แท้ที่จริงแล้ว กลับเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในไทยเหมือนกับเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus)
ที่เราคุ้นหูกันมานาน เพียงแต่ไทยได้ป้องกันการเกิดโรต้าด้วยการให้วัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ทำให้มีผู้ป่วยลดลง แต่ในขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อโนโรไวรัสได้ ทำให้เจอผู้ป่วยมากขึ้นมาแทน
และอีกความตกใจคือ "แอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าเชื้อโนโรไวรัสได้" คำตอบของคำถามนี้คือ "จริงครั้บ" แต่ต้องอธิบายกันเพิ่มว่า "แอลกอฮอล" ที่เราใช้ๆ กันอยู่นี้ สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่ได้ และ ฆ่าเชื้อไวรัสบางชนิดได้
เช่น เชื้อ HIV เชื้อเริม เชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีเชื้อไข้หวัดใหญ่ ส่วนไวรัสในกลุ่มที่ติดต่อในระบบทางเดินอาหาร เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ และโรคที่เกิดจากติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus Diseases) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดการติดเชื้อไวรัสอย่างเฉียบพลัน
เอนเทอโรไวรัส เป็นไวรัส RNA สายเดี่ยว ขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-30 นาโนมิเตอร์ เป็นไวรัสเปลือย (Non-enveloped virus) ทำให้ทนทานต่อสารละลายไขมัน เช่น แอลกอฮอล์ ได้
ฉะนั้นเมื่อรู้ที่มาที่ไปแล้ว ก็อย่าตกใจไปครับ เพียงแต่มาเปลี่ยนวิธีการป้องกันโรคใหม่ ด้วยน้ำสบู่ ที่ต้องถูอย่างน้อย 20 วินาทีขึ้นไป หรือถูมือตามหลักการล้างมือที่ถูกต้อง หมอจะแจกลิงค์การล้างมือที่ถูกต้องไว้ในคอมเมนต์นะครับ"