รวม 10 ข้อควรรู้ก่อนทำการผ่าตัดเปลี่ยนเสียง


รวม 10 ข้อควรรู้ก่อนทำการผ่าตัดเปลี่ยนเสียง


เสียงพูดของคนเรานั้นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเสียงทุ้มต่ำ หนักแน่น จะบ่งบองถึงความเป็นเสียงเพศชาย ส่วนเสียงแหลม เล็ก เบา นุ่มนวล จะบอกถึงเสียงของเพศหญิง ดังนั้น สำหรับคนข้ามเพศ นอกจากการผ่าตัดแปลงเพศหรือทำศัลยกรรมรูปร่างหน้าตาให้ตรงกับเพศที่ต้องการแล้ว การเปลี่ยนเสียงให้ตรงกับเพศใหม่ด้วยการ "การผ่าตัดเปลี่ยนเสียง" ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่หลายคนต้องการ เพราะจะช่วยเติมความมั่นใจในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของร่างกายให้ครบสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

การผ่าตัดเปลี่ยนเสียงโดยมากจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี

1. ผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนเสียงจากชายเป็นหญิง (Feminization laryngoplasty)

2. ผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนเสียงจากหญิงเป็นชาย (Masculinization laryngoplasty)


1. ใครสามารถผ่าตัดเปลี่ยนเสียงได้บ้าง?

กลุ่มบุคคลข้ามเพศ (Transgender) ที่ตัดสินใจแล้วว่าต้องการเปลี่ยนแปลงตนเอง ทั้งที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว และยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งควรเป็นผู้บรรลุนิติภาวะหรือมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องมีการประเมินภาพรวมเป็นรายบุคคลก่อนทำการผ่าตัด

กรณีมีความสงสัยเรื่องปัญหาทางเสียงและต้องการแก้ไข ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านกล่องเสียงก่อน เพื่อประเมินว่าปัญหาของเสียงที่มีอยู่เกิดจากสาเหตุใด และสาเหตุนั้นๆ ควรรักษาด้วยวิธีใด เพราะการผ่าตัดไม่สามารถแก้ไขปัญหาของเสียงจากทุกสาเหตุได้

ทั้งนี้ ลักษณะเสียงบางอย่าง เพียงใช้การฝึกพูดก็เพียงพอต่อการปรับเสียงให้ตรงความต้องการและรู้สึกพึงพอใจได้ เช่น เสียงที่มีลักษณะเบา เสียงผ่อน เสียงไม่แข็งแรง หากพบว่าไม่มีความผิดปกติทางกายภาพหรือการทำงานของเส้นเสียง การปรับลมหายใจ การฝึกกลั้นและกักลมใต้กล่องเสียง และการฝึกกล้ามเนื้อกล่องเสียงให้ค่อยๆ ผ่อนลม ก็อาจช่วยให้เสียงมีความแข็งแรงขึ้นได้แล้ว

ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องเสียงและอยากมาเปลี่ยนเสียง จึงจำเป็นต้องเข้ารับการประเมินอย่างละเอียดก่อน เพื่อแพทย์จะได้แนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้ได้

หากเป็นผู้ชายข้ามเพศ โดยส่วนมากแพทย์จะแนะนำให้ใช้การปรับฮอร์โมนแทนการผ่าตัดเปลี่ยนเสียง ร่วมกับการฝึกใช้เสียงโดยนักแก้ไขการพูดหรือนักอรรถบำบัด เพื่อช่วยในการเปลี่ยนเสียงให้เหมือนเพศที่ตรงอัตลักษณ์ที่ต้องการ

2. ผู้หญิงที่มีเสียงเล็กแหลมเกินไป สามารถผ่าตัดเปลี่ยนเสียงเพื่อเสริมความมั่นใจได้ไหม?
กรณีเช่นนี้ สามารถใช้ฮอร์โมนเพื่อช่วยให้เสียงเปลี่ยนถาวรได้โดยไม่ต้องผ่าตัด

3. หลังผ่าตัดสามารถพูดคุยได้เลยหรือไม่?
ขึ้นกับชนิดของการผ่าตัด โดยทั่วไป หากเป็นการผ่าตัดที่ไม่ได้ทำให้เกิดแผลบริเวณเส้นเสียง

อาจแนะนำให้งดใช้เสียงช่วง 1-2 วันแรก เพื่อลดการบวมบริเวณที่ทำการผ่าตัด แต่หากเป็นการผ่าตัดที่มีแผลบริเวณเส้นเสียง เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนเสียงจากชายเป็นหญิงด้วยวิธีส่องกล้องเย็บเส้นเสียง แนะนำให้งดการใช้เสียงใน 7-14 วันแรกหลังผ่า หลีกเลี่ยงการกระแอม การไอ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฉีกขาดของไหมที่เย็บเส้นเสียง และเลือดออกในชั้นเส้นเสียงด้วย

4. ผลลัพธ์หลังการผ่าตัดเปลี่ยนเสียง?
หลังผ่าตัด เมื่อเริ่มกลับมาใช้เสียงจะสัมผัสได้ถึงเสียงที่เปลี่ยนได้ในทันที แต่ผลลัพธ์เรื่องเสียงว่าจะได้เสียงตรงตามความต้องการหรือไม่นั้น ขึ้นกับหลายปัจจัย แต่หัวใจหลักของเสียงที่เปลี่ยนแปลง คือฝึกฝนการออกเสียงให้ตรงตามหลักวิธีเป็นประจำ ทั้งยังควรดูแลสุขภาพเส้นเสียงให้ถูกสุขลักษณะ และงดพฤติกรรมที่จะเป็นอันตรายต่อเส้นเสียงด้วย

5. การดูแลหลังผ่าตัดเปลี่ยนเสียง
หลังการผ่าตัด เมื่อกลับมานอนพักฟื้นที่ห้องพัก สามารถรับประทานอาหาร น้ำ ได้ตามปกติ แพทย์อาจให้ยาระงับปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด โดยทั่วไปจะเกิดจากปวดกล้ามเนื้อคอหรือไหล่จากการแหงนคอเวลาผ่าตัด และอาจปวดบริเวณแผลผ่าตัดในกรณีมีแผลภายนอก เป็นต้น

แพทย์จะสังเกตอาการทางระบบหายใจ โดยหลังการผ่าตัดภายใน 24 ชม. หากไม่พบภาวะแทรกซ้อน ก็สามารถกลับบ้านได้

งดการ ไอ จาม ขากเสมหะแรงๆ เพื่อไม่ให้เส้นเสียงบวม

งดการสร้างความระคายเคืองให้ช่องคอประมาณ 2 สัปดาห์ เช่น การกินอาการกรอบ แข็ง ของทอดหรือมัน

งดการใช้เสียงประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อรอให้แผลผ่าตัดสมานก่อน อาจสื่อสารผ่านการพิมพ์หรือเขียนแทน

6. ในอนาคตหลังการผ่าตัดไปสักระยะหนึ่ง มีโอกาสที่เสียงจะเปลี่ยน เสียงเพี้ยนไม่เหมือนเดิม หรือไม่?
หลังการผ่าตัดมีโอกาสที่เสียงจะเพี้ยนไปจากเดิมได้ เนื่องจากเส้นเสียงบวม เส้นเสียงเป็นแผลเป็น อาจไม่ได้เสียงแหลมสูงในระดับที่ต้องการ และอาจกลับไปเสียงเหมือนเดิมได้เช่นกัน การฝึกออกเสียงอย่างถูกต้องตามหลักวิธีอย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

การปฏิบัติตัวเพื่อรักษาคุณภาพเสียงต้องเริ่มจากการรักษาสุขภาพของเส้นเสียงเป็นพื้นฐาน การดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อคงความชุ่มชื้นของเยื่อบุเส้นเสียง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการตะโกน การเค้นเสียง หรือการใช้เสียงมากๆ และนานๆ หลีกเลี่ยงยาหรือสารใดๆ ก็ตามที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเส้นเสียง หลีกเลี่ยงสุรา บุหรี่ หรือแม้แต่การควบคุมอาหาร น้ำหนัก และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อป้องกันภาวะกรดไหลย้อนที่อาจส่งผลให้มีอาการกระแอมไอเป็นประจำ เนื่องจากการระคายคอและเกิดการอักเสบของเส้นเสียงได้ เป็นต้น

7. การผ่าตัดเปลี่ยนเสียงในหญิงข้ามเพศ (จากชายเป็นหญิง) ลูกกระเดือกจะหายไปไหม?
การผ่าตัดเปลี่ยนเสียงนั้นไม่ทำให้ลูกกระเดือกหายไป เนื่องจากการผ่าตัดไม่มีการตัดกระดูกอ่อนกล่องเสียงออกไปแต่อย่างใด จุดประสงค์ของการผ่าตัดเปลี่ยนเสียง มุ่งเน้นในเรื่องการเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพของเส้นเสียง หรือการปรับตำแหน่งการวางตัวของกระดูกอ่อนกล่องเสียงมากกว่า แต่ลูกกระเดือกนั้นคือส่วนของกระดูกอ่อนกล่องเสียงที่นูนออกมามากที่สุด หากต้องการลดขนาดของลูกกระเดือกไม่ให้เห็นชัด จะเป็นวิธีการผ่าตัดโดยเปิดแผลจากภายนอก แล้วทำการตัดกระดูกอ่อนลบรอยนูนนั้นให้เรียบมากที่สุดที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อกล่องเสียงด้านใน ส่วนในเรื่องของรูปร่างคอภายนอกนั้น หากไม่เกิดเป็นรอยแผลเป็นนูน ก็จะเห็นว่าลูกกระเดือนนั้นเล็กลงตามขนาดที่เหลาออกไปนั่นเอง

8. การผ่าตัดเปลี่ยนเสียงจะมีแผลเป็นหรือรอยเย็บบริเวณลำคอหรือไม่
หากเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงจากผู้หญิงเป็นผู้ชาย หรือการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงด้วยวิธีปรับการวางตัวของกระดูกอ่อนกล่องเสียง จะมีแผลและรอยเย็บที่คอด้านหน้า ส่วนจะเกิดเป็นแผลเป็นนูนหรือเปล่านั้น ขึ้นกับลักษณะการหายของแผลตามแต่ละบุคคลด้วย

9. อาการใดบ้างที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเสียง
ในระยะแรก เสียงจะเปลี่ยนไปจากเดิมจากการบวมของเส้นเสียง และเมื่อแผลหายแล้ว มีโอกาสที่เสียงจะเปลี่ยนจากเดิมได้หลายทาง โดยอาจไม่สูงเท่าที่หวังไว้ การขึ้นลงของเสียงอาจไม่คงที่ มีเสียงแหบ เสียงแตก หรือหากไหมที่เย็บกระดูกอ่อนของกล่องเสียงไว้คลายตัว อาจทำให้เสียงกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้เช่นกัน อาการอย่างอื่นที่เกิดได้ คือ อาการไอ ระคายเคืองในลำคอจากการดมยาสลบ หรืออาการข้างเคียงอื่นๆ ที่เกิดจากยาสลบ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นต้น

10. ควรผ่าตัดลูกกระเดือกออกก่อนมาผ่าตัดเปลี่ยนเสียงหรือไม่ ?
ไม่ควรผ่าตัดลูกกระเดือกก่อนมาผ่าตัดเปลี่ยนเสียง เพราะอาจทำให้เกิดแผลเป็นในสายเสียง ทำให้ประเมินสายเสียงยาก หรือเกิดพังผืดที่ผิวหนังบริเวณคอ ส่งผลให้การผ่าตัดเข้าไปแก้ไขที่กล่องเสียงทำได้ลำบากขึ้น

เครดิตแหล่งข้อมูล :phyathai


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์