ท้องผูกเรื้อรัง หายขาดได้ ถ้ารักษาอย่างถูกวิธี


ท้องผูกเรื้อรัง หายขาดได้ ถ้ารักษาอย่างถูกวิธี

อาการ "ท้องผูก" เป็นปัญหาที่คนส่วนมากมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะคิดว่าแค่ทานยาระบายก็ช่วยให้ขับถ่ายได้แล้ว แต่รู้ไหมว่า! การทานยาช่วยถ่ายเป็นประจำ นอกจากโรคท้องผูกจะไม่หายแล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายอื่นๆ ตามมาได้ เพราะฉะนั้น ควรรีบหาทางรักษาโรคท้องผูกเรื้อรังอย่างจริงจัง ก่อนที่โรคร้ายจะถามหาดีกว่า

การขับถ่ายแบบไหนที่เรียกว่าปกติ?
หลายคนเข้าใจว่า การขับถ่ายที่ปกติจะต้องถ่ายทุกวัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ร่างกายหรือสรีระของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน จึงไม่จำเป็นต้องขับถ่ายบ่อยเท่ากัน ดังนั้น ตราบใดที่เรายังสามารถขับถ่ายได้อย่างสบาย ไม่ต้องเบ่งมากจนเกินไป และอุจจาระมีลักษณะนิ่ม จับตัวเป็นก้อนดี แม้จะไม่สามารถขับถ่ายได้ทุกวัน ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

โดยปกติคนเราจะถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ถ้าเมื่อไรที่เราถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือมีความลำบากในการถ่ายอุจจาระ เช่น อุจจาระแข็ง ต้องใช้แรงเบ่งมากกว่าปกติ มีความรู้สึกว่าถ่ายอุจจาระออกไม่หมด ต้องใช้นิ้วล้วงช่วย หรือใช้น้ำฉีดเข้าไปในทวารหนักเพื่อการขับถ่าย ก็อาจเข้าข่าย ‘ภาวะท้องผูกเรื้อรัง' ได

อาการแบบไหนที่ควรสงสัยว่าเรามีภาวะท้องผูกเรื้อรัง?

ในทางการแพทย์ ปัจจุบันจะใช้เกณฑ์ของ Rome IV ในการวินิจฉัยโรคท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งจะต้องมีอาการที่รบกวนการดำเนินชีวิต และมีความผิดปกติต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน โดยอาการผิดปกติของโรคท้องผูกเรื้อรังจะต้องมีอาการอย่างน้อย 2 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระมากกว่าปกติ

2. อุจจาระเป็นก้อนแข็ง

3. รู้สึกว่าถ่ายอุจจาระไม่หมด

4. รู้สึกว่ามีการอุดกั้นบริเวณทวารหนัก

5. มีการใช้นิ้วล้วงในทวารหนักเพื่อช่วยการขับถ่าย

6. ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

ดังนั้น หากใครที่มีอาการ 2 อย่างขึ้นไปใน 6 ข้อนี้ แถมยังเป็นอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นสัญญาณที่อาจบอกได้ว่า คุณกำลังมีภาวะท้องผูกเรื้อรัง จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ รีบไปให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยจะดีกว่า

ท้องผูกเรื้อรังส่งผลอย่างไรบ้าง?
ภาวะท้องผูกเรื้อรัง สามารถส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเครียด เบื่ออาหาร ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า ปวดหัว ปวดหลัง ปวดบีบท้อง หรือแม้แต่ทำให้อาการกรดไหลย้อนกำเริบ หรือแสบร้อนยอดอกได้ นอกจากนั้น การเบ่งถ่ายมากๆ เป็นประจำอาจทำให้เกิดผลเสียกับร่างกายในผู้ป่วยบางประเภท เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยริดสีดวงทวาร ผู้ป่วยไส้เลื่อน เป็นต้น และที่สำคัญ อาการท้องผูกอาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน

แค่ท้องผูกอาจเป็นสัญญาณมะเร็งลำไส้ใหญ่
ปัญหาท้องผูกอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยมีภาวะท้องผูกร่วมกับมีสัญญาณเตือนอื่นๆ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป โดยควรสังเกตสัญญาณเตือนเหล่านี้อยู่เสมอ

ถ่ายเป็นสีดำ มีเลือดปน หรือตรวจพบเลือดแฝงในอุจจาระ
มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
น้ำหนักลดอย่างไม่ตั้งใจหรือไม่ทราบสาเหตุ
ท้องผูกสลับท้องเสีย
อุจจาระลำเล็กลง
มีอาการของลำไส้อุดตัน
มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ หรือโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

ท้องผูกเรื้อรังอาจหายขาดได้ หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
การรักษาโรคท้องผู้เรื้อรัง เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ อาการร่วมต่างๆ และตรวจร่างกายทั่วไป รวมถึงการตรวจทางทวารหนัก เพื่อหาสาเหตุที่แก้ไขได้ของภาวะท้องผูก เช่น การหยุดยาบางชนิดที่เป็นสาเหตุของท้องผูก การให้ไทรอยด์ฮอร์โมนทดแทนในผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ เป็นต้น

หากไม่พบสาเหตุของภาวะท้องผูกที่ชัดเจน แพทย์จะแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการให้รับประทานอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำให้มากขึ้น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และแนะนำการสร้างสุขลักษณะในการขับถ่ายที่ดีให้ ทั้งนี้ในช่วงแรกอาจมีการให้ยาช่วยในการขับถ่ายร่วมด้วย และเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ก็จะค่อยๆ ลดยาลงจนหยุดยาได้ในที่สุด

ที่สำคัญ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาถ่ายกินเองเป็นประจำโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะในบางครั้งอาจทำให้ลำไส้คุ้นชินกับการต้องใช้ยาถ่ายตลอดเวลา จนไม่สามารถถ่ายได้เอง สุดท้ายอาการท้องผูกจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะรักษาให้หายขาดได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีการปรับพฤติกรรมและกินยาระบายแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น อาจเป็นเพราะผู้ป่วยมีความผิดปกติทางด้านกายวิภาค เช่น มีความผิดปกติของมุมระหว่างลำไส้ตรงและทวารหนักในขณะถ่ายอุจจาระ มีไส้ตรงที่ยื่นย้อยผิดปกติ มีความผิดปกติของ perineal descent หรือ อาจมีความผิดปกติทางสรีรวิทยาจากการทำงานที่ไม่สอดประสานกันของกล้ามเนื้อลำไส้ตรงและกล้ามเนื้อทวารหนักได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ หากได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องจากแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงการใช้เครื่องมือพิเศษทำการตรวจโดยเฉพาะ เมื่อพบสาเหตุที่แท้จริงก็จะได้รับการรักษาอย่างถูกทางและมีโอกาสหายขาดได้

เครดิตแหล่งข้อมูล :phyathai


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์