ชนิดของโรคภูมิแพ้


ชนิดของโรคภูมิแพ้


อาการของโรคภูมิแพ้

อาการของโรคภูมิแพ้แบ่งเป็นระบบต่างๆตามอาการที่แสดงออกดังนี้

โรคแพ้อาหาร (food allergy)
ภาวะแพ้อาหารเป็นปฏิกิริยาทางอิมมูนที่ตอบสนองไวผิดปกติต่ออาหารที่รับประทาน โดย มักมีอาการเฉียบพลันหลังจากรับประทานอาหารชนิดนั้น และบางครั้งอาจมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งอาการที่เกิดจากระบบอิมมูนชนิด IgE มักมีอาการเร็วหลังได้รับอาหาร โดยอาการที่พบได้แก่ ผื่นลมพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำมูก หอบ ผื่นแพ้ผิวหนัง หรืออาจมีอาการหลายระบบร่วมกันเรียกว่า anaphylaxis (ได้แก่มีอาการผิวหนัง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ความดันโลหิตต่ำ) สำหรับอาหารที่ทำให้แพ้ได้แก่ นมวัว ไข่ อาหารทะเล แป้งสาลี ถั่ว เป็นต้น กรณีอาการแพ้นมวัวที่เกิดจากปฏิกิริยาที่ไม่ผ่านอิมมูนชนิด IgE อาจมีอาการช้าหลังรับประทานนมวัวไปหลายสัปดาห์ ซึ่งอาการที่พบได้แก่ กรดไหลย้อน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด

ควรปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการทางผิวหนังหรือทางเดินอาหารเป็นๆ หายๆ โดยเฉพาะที่มีอาการสัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร หรืออาจมีอาการหลายๆระบบโดยที่หาสาเหตุไม่ได้

โรคผื่นแพ้ผิวหนัง (eczema)
พบได้ตั้งแต่ช่วง 3 เดือนหลังคลอด โดยลักษณะผื่นคือ แห้ง แดง คัน มักเป็นบริเวณ หน้า หนังศีรษะ แขนและขา อาการจะคันมาก ทำให้เกาจนเกิดผิวแห้ง หนา ตกสะเก็ด บางครั้งเกาจนเป็นแผลถลอก ติดเชื้อได้ ซึ่งผื่นแพ้ผิวหนังอาจมีสาเหตุกระตุ้นจากอาหารได้ โดยอาหารที่กระตุ้นให้เกิดผื่นแพ้ผิวหนังได้แก่ ไข่ นม แป้งสาลี อาหารทะเล

การดูแลตนเองเบื้องต้น
ใส่เสื้อผ้าเด็กด้วยผ้าคอดตอน ไม่ใช้เสื้อผ้าทีทำจากใยสังเคราะห์
ตัดเล็บเด็กให้สั้น เพื่อป้องกันการเกิดแผลจากการเกา ใส่ถุงมือตอนนอนเพื่อป้องกันไม่ให้เกาขณะหลับ
อุณหภูมิร้อนทำให้อาการแย่ลง พยายามให้เด็กอยู่ในที่เย็นและไม่อาบน้ำร้อน
ใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่อ่อน ไม่แพ้ง่าย (hypoallergenic products) หลังอาบน้ำใช้ผ้าเช็ดตัวซับเบาๆ ไม่ถู แล้วใช้โลชั่นทาหลังอาบน้ำทันที
หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผสมน้ำหอม
ใช้น้ำเกลือหรือความเย็นประคบบริเวณที่มีผื่นคัน
ผื่นแพ้ผิวหนังอาจกระตุ้นด้วยอาหาร ความเครียด ดังนั้นควรมองหาตัวกระตุ้นเหล่านี้ด้วย
ควรปรึกษาแพทย์เมื่อ มีอาการรุนแรงจนต้องได้รับยาสเตียรอยด์ทา มีการติดเชื้อจนต้องได้รับยาปฏิชีวนะ มีอาการเรื้อรัง เป็นๆหายๆ ผื่นคันจนรบกวนการนอนหรือกิจวัตรประจำวันของเด็ก

โรคลมพิษ (uticaria)
เป็นผื่นนูน แดง คัน ขอบเขตชัด และลักษณะผื่นที่เป็นจะเปลี่ยนที่ โดยที่หายแบบไม่มีร่องรอยเดิม สาเหตุของลมพิษอาจเกิดจากการแพ้อาหาร แพ้ยา การติดเชื้อ ความร้อน ความเย็น รอยกดทับ หรือ เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองก็ได้ บางรายที่เป็นลมพิษเรื้อรังมักไม่ทราบสาเหตุ

การรักษา คือ รับประทานยาต้านฮีสตามีน หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น และควรปรึกษาแพทย์เมื่อต้องการทราบสาเหตุ มีอาการเรื้อรัง รุนแรงและทานยาแล้วไม่ดีขึ้น

โรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือแพ้อากาศ(allergic rhinitis)
เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุด มักพบในเด็กวัยเรียน และอาจพบร่วมกันกับโรคหืดได้ อาการที่พบบ่อยได้แก่ เป็นหวัดบ่อย หวัดเรื้อรัง คัดจมูก นอนกรน จาม น้ำมูก คันจมูก คันตา หรือเป็นไซนัสอักเสบบ่อยโดยอาการเหล่านี้มักเป็นเรื้อรัง เป็นๆหายๆ หรืออาจมีอาการตลอดทั้งปีได้ เกือบครึ่งหนึ่งของคนที่มีอาการภูมิแพ้ทางจมูกมักจะเกิดภูมิแพ้ทางตา ร่วมด้วย

การดูแลรักษา คือ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ใช้ยาต้านฮีสตามีน หรือยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ หากมีอาการเยอะจนรบกวนคุณภาพชีวิต ควรไปปรึกษาแพทย์

โรคหืด (asthma)
เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กอายุหลัง 3 ปี โรคนี้เกิดจากหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ทำให้หลอดลมไว เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นทำให้เกิดอาการหลอดลมตีบ มีมูกอุดตันทำให้หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก มีเสียงวี้ด ไอบ่อยๆหรือไอเรื้อรังหลังเป็นหวัดได้ อาการเหล่านี้อาจได้รับกระตุ้นจากการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ การออกกำลังกาย เล่น หัวเราะ หรือร้องไห้ก็ได้ มักมีอาการช่วงกลางคืน หรืออากาศเย็น

การดูแลรักษา คือ ใช้ยาขยายหลอดลมเมื่อมีอาการ กรณีมีอาการหอบกำเริบบ่อยให้ใช้ยาควบคุมอาการเช่น ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นสูด เพื่อลดหลอดลมอักเสบ หลอดลมไว ทำให้ป้องกันอาการหอบกำเริบ ซึ่งยาตัวนี้มีความปลอดภัยสูงเมื่อใช้เป็นเวลานานตามขนาดที่แพทย์สั่ง สำหรับระยะเวลาในการรักษาโรคหืด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการไอรุนแรง หอบเยอะ หายใจเสียงดังวี้ดรุนแรง ริมฝีปากหรือเล็บเขียว หรือกรณีหอบบ่อย รบกวนคุณภาพชีวิต

เครดิตแหล่งข้อมูล :bnhhospital


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์