รู้เท่าทันภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดมาจากการติดเชื้อโรคต่างๆ ตั้งแต่เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสและเชื้อรา โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่ติดเชื้อโรคอื่นๆ เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายหยุดต่อสู้กับเชื้อโรคและกลับมาทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในร่างกายของตัวผู้ป่วยเอง ทำให้เกิดการอักเสบทั่วทั้งร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะในร่างกายทำงานล้มเหลวในที่สุด เป็นภาวะที่อันตรายต่อชีวิตและต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
สาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
การติดเชื้อที่ปอด เช่น ปอดบวม
การติดเชื้อทางเดินอาหารและตับ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ
การติดเชื้อที่ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น การติดเชื้อที่สมองหรือไขสันหลัง
การติดเชื้อที่ผิวหนัง
ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่
ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เด็กทารกและสตรีมีครรภ์
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและโรคไต
ผู้ที่ใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าสู่ร่างกาย เช่น สายสวนปัสสาวะ สายสวนหลอดเลือดดำหรือท่อช่วยหายใจ
ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง เช่น มีแผลขนาดใหญ่
ผู้ที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล
อาการของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดมีอย่างไรบ้าง
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดขึ้นได้หลายแห่งในร่าง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่หลากหลายแตกต่างกัน โดยทั่วไปผู้ป่วยอาจอาการดังนี้
หัวใจเต้นเร็วหรือชีพจรอ่อน หายใจเร็วและตื้น
มีไข้ หนาวสั่น
มีผื่นที่ผิวหนัง
ผิวหนังอุ่นและมีเหงื่อออกโดยไม่ทราบสาเหตุ
รู้สึกสับสน
รู้สึกเจ็บปวดหรือไม่สบายตัว
อาการบางอย่างที่แสดงถึงการติดเชื้อเฉพาะที่ เช่น ปัสสาวะเจ็บแสบจากการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะหรืออาการไอที่แย่ลงจากการติดเชื้อที่ปอด
หากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงจนถึงขั้นช็อค (septic shock) ผู้ป่วยจะรู้สึกสับสนอย่างมาก มีอาการง่วงซึมและไม่สามารถยืนขึ้นได้
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์และแพทย์มีวิธีรักษาอย่างไร
ผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดหรือมีการติดเชื้อที่ไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาโดยทันที ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นเรื่องฉุกเฉินที่อาจต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนในแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) การรักษารวมถึงการให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อโรคที่สงสัย การนำเลือดไปเพาะเชื้อและปรับยาปฏิชีวนะให้ตรงกับโรค การให้น้ำเกลือ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับยากระตุ้นความดันโลหิต (Vasopressor) หรือการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายออกไป
ป้องกันภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตได้อย่างไร
รักษาสุขอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อยๆ
รักษาความสะอาดของแผลและปิดแผลจนกว่าแผลจะหาย
ดูแลโรคประจำตัวที่เรื้อรังให้ดี พบแพทย์ตามที่นัดหมาย
หากสงสัยว่ามีการติดเชื้อให้รีบไปพบแพทย์
ฉีดวัคซีนตามคำแนะนำ
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!